for the LORD gives wisdom

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

หญิงม่ายหน้าพระวิหาร


วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 32 เทศกาลธรรมดา ปี B
บทความเทศน์ บาทหลวงสมเกียรติ ตรีนิกร

พี่น้องที่รัก เช่นกันกับทุกวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันของพระเจ้า ให้เราพร้อมใจกันสรรเสริญพระเจ้าพระบิดาที่รักยิ่งของเรา พระเจ้าผู้ทรงรักเรา ผู้ทรงประทานชีวิตนิรันดรแก่เราให้เป็นความหวังอันยิ่งใหญ่โดยทางองค์พระบุตรสุดที่รักของพระองค์ เป็นเครื่องหมายแสดงความรักและความเมตตาของพระเจ้าต่อมนุษย์ทุกคน 

ดังนั้น. พ่อเชิญชวนให้เราได้เริ่มบทรำพึงพระวาจาประจำวันอาทิตย์นี้
ด้วยการสรรเสริญพระเจ้า ด้วยการประกาศความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ และด้วยการพร้อมใจเป็นหนึ่งเดียวกันในการถวายบูชาขอบพระคุณขององค์พระบุตร เพื่อว่าวันนี้จะเป็นวันพระเจ้าอย่างแท้จริง

เหตุว่าเราทุกคนที่เป็นลูก ๆ ของพระเจ้า
ได้มาเป็นหนึ่งเดียวกันในบ้านของพระองค์
ให้เราทำให้วันนี้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ เป็นวันแห่งความรักตามประสาพ่อลูกที่พบกันในบ้านของพระองค์

และที่สำคัญเราต้องสะท้อนภาพความรักและความเป็นหนึ่งนี้ออกมาในชุมชนคริสตชนของเรา

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวของเรา


ถ้าพี่น้องจะถามพ่อว่า
แล้วเราจะสะท้อนภาพแห่งความรักและความเป็นหนึ่งเดียวกันของเรานี้กับพระบิดาเจ้าออกมาอย่างไร
ในชุมนุมคริสตชนของเรา หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวของเรา

คำตอบที่เราได้รับจากพระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ ช่างน่าฟังเสียจริง ๆ ซึ่งพ่อจะขอนำมาให้พี่น้องได้รำพึง ไตร่ตรอง และพร้อมใจกันนำไปเป็นหนทางแห่งชีวิต ซึ่งเป็นหนทางที่เราเดินตามพระแบบฉบับและคำสอนของพระเจ้าของเรา

พ่อขอเล่าเรื่องหนึ่งให้พี่น้องฟัง เพื่อเป็นการนำเรื่องที่เราจะรำพึงวันนี้

ครั้งหนึ่งพ่อได้มีโอกาสขับรถไปทำงานที่สุราษฎร์ธานีพร้อมกับพระสงฆ์หนุ่มของเราองค์หนึ่ง ขณะที่เดินทางไป คุณพ่อเขาเป็นคนทำหน้าที่ขับรถให้พ่อ และเราก็พูดคุยกันไปตลอดทาง มีช่วงหนึ่งที่เราคุยกันค่อนข้างจริงจังในฐานะที่เราเป็นพระสงฆ์

พ่อถามพระสงฆ์หนุ่มองค์นั้นว่า
“น้องว่าถ้าเราพระสงฆ์จะเป็นเครื่องหมายแทนพระคริสตเจ้า คืออย่างที่ภาษาลาตินว่า ‘Alter Christus’ คือ ‘พระคริสตเจ้าอีกองค์หนึ่ง’ หรือที่จะชัดกว่าคือ ในเมื่อทุกอย่างที่เราทำเราทำในพระนามหรือพระบุคคลของพระเยซูเจ้า ที่ภาษาลาตินเรียกว่า ‘In Persona Christi’
น้องคิดว่าเราต้องดำเนินชีวิตเป็นอย่างไร?
หรือประพฤติอย่างไร?
หรืออะไรล่ะที่เราทำแล้วทำให้คนปัจจุบันเห็นชัดว่าเราเป็นดังพระคริสตเจ้าที่แท้จริง”

คำตอบที่พ่อได้รับและต้องบอกว่าน่าประทับใจที่พ่อได้ยินจากคุณพ่อรุ่นน้องคนนั้น เพราะเขาเงียบกับคำถามของพ่อที่ค่อนข้างถามจริง และดูเหมือนเขาคิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะคำตอบนั้นออกมาอย่างทันทีว่า “ผมว่า ‘ความเมตตา’ ” ทุกคนที่เป็นพระสงฆ์และคริสตชนทุกคนด้วย

 “ความเมตตา กรุณา” คือ เครื่องหมายแห่งความเป็นบุตรของพระเจ้า และต้องเป็นเครื่องหมายที่เห็นได้ว่าเราเป็นคริสตชนอย่างแน่นอน

พ่อดีใจกับคำตอบที่ได้รับ เพราะว่าสมเด็จพระสันตะปาปาเพิ่งจะเน้นย้ำถึงความเป็นสงฆ์ว่า

“พระสงฆ์ เป็นพยานและศาสนบริกรแจกจ่ายพระกรุณาของพระเจ้า”

พ่อไม่จำกัดความเป็นสงฆ์ไว้ที่พวกคุณพ่อในใจความที่ต้องเป็นพยานและแจกจ่ายพระกรุณาอย่างแน่นอน เพราะแน่นอนที่สุด พวกเราต้องพยายามเป็นอย่างนั้น แม้บางครั้งพวกพ่อยังคงอ่อนแออยู่ เพราะความเป็นมนุษย์ก็ตาม แต่พ่ออยากจะยืนยันว่า เราทุกคน คือ “พี่น้องคริสตชนทุกคนด้วย”

ศีลล้างบาป
ทำให้เราทุกคนได้เข้ามีส่วนในความเป็นสงฆ์ “สังฆภาพสามัญ”  กล่าวคือ เราได้เข้ามามีส่วนในความศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสตเจ้า เราจึงต้องประกาศซึ่งพระกรุณาของพระองค์เช่นกัน

ความเมตตากรุณานั้นคือสิ่งที่พ่อจะขอนำมาเสนอให้กับพี่น้องในวันนี้
เป็นคุณธรรมสูงที่เราได้รับการดลใจจากพระวาจาของพระเจ้า เพื่อว่าเราจะสามารถนำพระคุณ พระพร และคุณธรรมประการนี้กลับไปดำเนินชีวิตจริงในชุมชนของเรา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวของเรา

พ่ออยากจะขอพูดถึงเรื่องนี้โดยสรุปเนื้อหาจากพระวาจาของพระเจ้าที่เราได้ยินได้ฟังในวันนี้

ในบทอ่านแรกจากหนังสือพงศ์กษัตริย์

เรื่องราวของประกาศก เอลียาห์ ที่ได้พบกับ หญิงม่าย ที่เมืองศาเรฟัท


ขณะที่เกิดกันดารอาหาร
และหญิงม่ายคนนี้ดูเหมือนกำลังจะต้องตายพร้อมกับบุตร
หลังจากที่เหลือเพียงแป้งสาลีหนึ่งกำมือและน้ำมันเล็กน้อยในไห
นางกำลังเตรียมอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับตนเองและบุตร
และก็ต้องตายแน่ๆ

ท่านประกาศกเอลียาห์มาพบนาง
และขอน้ำพร้อมกับการขออาหารจากนางด้วย


ความหมายที่เราพบคือ

ประกาศกมาพร้อมกับคำสัญญาของพระเจ้าสำหรับนาง

“อย่างกลัวเลย จงไปทำตามที่เจ้าพูดเถิด
แต่จงทำขนมปังก้อนเล็กให้ฉันก่อนและเอามาให้ฉัน
แล้วจึงทำสำหรับตัวเจ้าและลูกของเจ้าภายหลัง

เพราะพระยาห์เวห์พระเจ้าของอิสราเอลตรัสดังนี้ว่า

‘แป้งในหม้อนั้นจะไม่หมด
และน้ำมันในไหนั้นจะไม่ขาด...’ ”



และผลก็คือ

เพราะนางทำตามเสียงของพระเจ้าโดยผ่านทางประกาศก พระเจ้าทรงแสดงพระกรุณาต่อนางและลูกให้ทั้งสองไม่ขาดอาหาร พระองค์ทรงประทานให้ตามคำของเอลียาห์ “แป้งในหม้อนั้นจะไม่หมด และน้ำมันในไหนั้นจะไม่ขาด...”

จากพระวรสารนักบุญมาระโก

เราพบตัวบุคคลที่เป็นเนื้อหาเดียวกันคือ “หญิงม่ายยากจน” ที่เอาเงินเหรียญทองแดงสองอัน มีค่าประมาณเพียงหนึ่งสลึงมาใส่ตู้ทาน

พระเยซูเจ้าทรงเห็นการกระทำนั้น ซึ่งไม่สามารถเปรียบได้กับค่าเงินมากมายที่คนร่ำรวยมีเหลือและนำมาใส่ และพระองค์ตรัสว่า

“เราขอบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า หญิงม่ายยากจนคนนี้ได้ทำทานมากกว่าทุกคน”

แน่นอนเรามองด้านหนึ่งอาจเห็นว่าเป็นเรื่องการทำบุญที่มีความหมายซึ่งถูกต้องทีเดียว


แต่อีกมุม คือจากมุมของพระเยซูเจ้า เห็นว่าพระองค์ทรงเห็นหรือทรงทอดพระเนตรการกระทำของหญิงม่ายด้วยความเข้าใจและด้วยความกรุณา และยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ในกิจการที่นางได้กระทำ เพราะแม้ในท่ามกลางการขัดสนที่สุด นางให้ทานนั้นในพระวิหาร ซึ่งความหมายของการให้ทาน คือการแสดงความเมตตากรุณาอย่างชัดเจน


จากตัวบททั้งสอง ถ้าพ่อจะนำเอาตัวบุคคลจากหนังสือพงศ์กษัตริย์ และจากพระวรสารมาสรุป เราจะพบว่า ในพระคัมภีร์เมื่อกล่าวถึง

“หญิงม่าย” นั้น ย่อมหมายความว่าเป็นบุคคลที่ต้องการความเมตตาสงสาร และต้องการความช่วยเหลือในสังคม เพราะสังคมชาวยิวนั้น ภรรยาจะมีความมั่นคงต้องมีสามีดูแลเอาใจใส่ และให้ความเมตตา การเป็นม่ายถือว่าเป็นความโชคร้ายและต้องขาดที่พึ่งพิง และต้องจัดว่าเป็นบุคคลชายขอบสังคมที่ต้องเรียกร้องขอความกรุณาจากคนอื่น

สิ่งที่เราพบในสองตอนจากพระคัมภีร์คือ

• หญิงม่าย ที่เมืองศาเรฟัท
นางได้พยายามทำในส่วนที่พอทำได้โดยไม่หวงแหนที่ได้ให้แก่ประกาศกเอลียาห์ และที่สำคัญชีวิตของนาง

ตลอดการกันดารอาหารนั้นได้อยู่ในสายพระเนตรของพระเจ้า  และในพระญาณเอื้ออาทรของพระองค์

• หญิงม่าย ที่พระวิหาร
นางได้ให้ความเมตตาจากส่วนที่จำเป็นที่สุดเช่นกัน และนางได้รับ การประกันแห่งพระกรุณา จากองค์พระเยซูเจ้า และพระองค์ประกาศถึงความกรุณาที่แท้จริงที่นางได้กระทำ

พ่อจึงมาถึงบทสรุปว่า คำตอบของพระสงฆ์หนุ่มรุ่นน้องของพ่อองค์นั้นตรงประเด็นคือ “ความเมตตากรุณา” นี่แหละคือลักษณะของพระเจ้าที่มีอยู่ตลอดในพระคัมภีร์ ในประวัติศาสตร์แห่งความรอด และเราพบความเมตตากรุณาสูงสุดในองค์พระเยซูเจ้าในพระวาจาทรงชีวิตและในพระแบบฉบับแห่งการมอบชีวิตของพระองค์ นี่เองที่พ่ออยากจะเสนอให้กับพี่น้องและให้กับตัวพ่อเองด้วยว่า

เราต้องเป็น และต้องดำเนินชีวิตโดยให้พระสิริของพระเจ้าปรากฏในชีวิตของเราอย่างแท้จริง พ่อขอขยายความเพื่อเราสามารถปฏิบัติได้ง่ายขึ้น และพ่อเชื่อว่านี่แหละเป็นหนทางแห่งชีวิตคริสตชน เพราะพระเยซูเจ้าทรงสอนว่า

“จงมีใจเมตตากรุณาดังเช่นพระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่านทรงมีใจเมตตากรุณาเถิด”

และเราจะทำอย่างไร? พ่อขอสรุปด้วยการตีความคำว่าเมตตากรุณาดังนี้ คือ คำว่า
“เมตตากรุณา” ในภาษาลาตินคือ “Misericordia”

ซึ่งมาจากคำสองคำผสมกัน และต้องแปลว่า “การมีใจรู้สึกสงสาร หรือหัวใจที่รู้สึกสงสาร” แต่ทว่าเพียงเท่านี้หรือที่แปลว่าเรามีใจเมตตากรุณาแล้ว พ่อพบความจริงจากคำศัพท์นี้อีกคำหนึ่งคือ เนื่องจากคำว่า “เมตตากรุณา” ในภาษาลาตินยังมีอีกคำหนึ่งด้วยคือ “CumPassio” ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Compassion” มีความหมายว่า “การร่วมทุกข์ด้วยกัน หรือการทำอะไรบางอย่างร่วมด้วยในความทุกข์นั้น”  

พ่อจึงสรุปว่า การมีใจเมตตากรุณานั้นคือ • การเริ่มที่ความรู้สึกสงสารเมื่อเห็นความทุกข์ลำบากของเพื่อนพี่น้องรอบข้าง บางครั้งถึงขนาดที่ต้องหลั่งน้ำตาทีเดียว เพราะภาพความทุกข์ที่ปรากฏ แต่ต้องไม่จบเพียงเท่านั้น ยังต้องมีการกระทำที่สำคัญคือ • ต้องร่วมในความทุกข์นั้นด้วยการยื่นมือออก เสียสละ หยิบยื่นความช่วยเหลืออย่างจริงจังด้วย

พี่น้องที่รัก พ่อขอสรุปสั้นๆ ว่า ให้เราไปและมีความเมตตากรุณาเถิด เพราะนี่คือลักษณะของพระเจ้าของเรา

 “พระบิดาทรงรักโลกถึงกับส่งพระบุตรแต่พระองค์เดียวของพระองค์มาเพื่อเรา”

เราเห็นความเอาใจใส่ของพระเจ้าต่อคนชายขอบสังคมเช่นหญิงม่ายในพระคัมภีร์ เราเห็นความตายของพระบุตรของพระเจ้าซึ่งเพราะความรักของพระบิดาเจ้า เราเห็นวีรกรรมต่างๆ จากบรรดานักบุญ และเราเล่าเราเห็น เรารับรู้ความทุกข์ ความสงสาร และร่วมทุกข์กับผู้อื่นด้วยการให้ การหยิบยื่นที่เสียสละเพียงใด ให้เราไปและดำเนินชีวิตเมตตากรุณาเถิด

ขอพระเจ้าอวยพร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น