for the LORD gives wisdom

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

หญิงม่ายหน้าพระวิหาร


วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 32 เทศกาลธรรมดา ปี B
บทความเทศน์ บาทหลวงสมเกียรติ ตรีนิกร

พี่น้องที่รัก เช่นกันกับทุกวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันของพระเจ้า ให้เราพร้อมใจกันสรรเสริญพระเจ้าพระบิดาที่รักยิ่งของเรา พระเจ้าผู้ทรงรักเรา ผู้ทรงประทานชีวิตนิรันดรแก่เราให้เป็นความหวังอันยิ่งใหญ่โดยทางองค์พระบุตรสุดที่รักของพระองค์ เป็นเครื่องหมายแสดงความรักและความเมตตาของพระเจ้าต่อมนุษย์ทุกคน 

ดังนั้น. พ่อเชิญชวนให้เราได้เริ่มบทรำพึงพระวาจาประจำวันอาทิตย์นี้
ด้วยการสรรเสริญพระเจ้า ด้วยการประกาศความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ และด้วยการพร้อมใจเป็นหนึ่งเดียวกันในการถวายบูชาขอบพระคุณขององค์พระบุตร เพื่อว่าวันนี้จะเป็นวันพระเจ้าอย่างแท้จริง

เหตุว่าเราทุกคนที่เป็นลูก ๆ ของพระเจ้า
ได้มาเป็นหนึ่งเดียวกันในบ้านของพระองค์
ให้เราทำให้วันนี้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ เป็นวันแห่งความรักตามประสาพ่อลูกที่พบกันในบ้านของพระองค์

และที่สำคัญเราต้องสะท้อนภาพความรักและความเป็นหนึ่งนี้ออกมาในชุมชนคริสตชนของเรา

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวของเรา


ถ้าพี่น้องจะถามพ่อว่า
แล้วเราจะสะท้อนภาพแห่งความรักและความเป็นหนึ่งเดียวกันของเรานี้กับพระบิดาเจ้าออกมาอย่างไร
ในชุมนุมคริสตชนของเรา หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวของเรา

คำตอบที่เราได้รับจากพระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ ช่างน่าฟังเสียจริง ๆ ซึ่งพ่อจะขอนำมาให้พี่น้องได้รำพึง ไตร่ตรอง และพร้อมใจกันนำไปเป็นหนทางแห่งชีวิต ซึ่งเป็นหนทางที่เราเดินตามพระแบบฉบับและคำสอนของพระเจ้าของเรา

พ่อขอเล่าเรื่องหนึ่งให้พี่น้องฟัง เพื่อเป็นการนำเรื่องที่เราจะรำพึงวันนี้

ครั้งหนึ่งพ่อได้มีโอกาสขับรถไปทำงานที่สุราษฎร์ธานีพร้อมกับพระสงฆ์หนุ่มของเราองค์หนึ่ง ขณะที่เดินทางไป คุณพ่อเขาเป็นคนทำหน้าที่ขับรถให้พ่อ และเราก็พูดคุยกันไปตลอดทาง มีช่วงหนึ่งที่เราคุยกันค่อนข้างจริงจังในฐานะที่เราเป็นพระสงฆ์

พ่อถามพระสงฆ์หนุ่มองค์นั้นว่า
“น้องว่าถ้าเราพระสงฆ์จะเป็นเครื่องหมายแทนพระคริสตเจ้า คืออย่างที่ภาษาลาตินว่า ‘Alter Christus’ คือ ‘พระคริสตเจ้าอีกองค์หนึ่ง’ หรือที่จะชัดกว่าคือ ในเมื่อทุกอย่างที่เราทำเราทำในพระนามหรือพระบุคคลของพระเยซูเจ้า ที่ภาษาลาตินเรียกว่า ‘In Persona Christi’
น้องคิดว่าเราต้องดำเนินชีวิตเป็นอย่างไร?
หรือประพฤติอย่างไร?
หรืออะไรล่ะที่เราทำแล้วทำให้คนปัจจุบันเห็นชัดว่าเราเป็นดังพระคริสตเจ้าที่แท้จริง”

คำตอบที่พ่อได้รับและต้องบอกว่าน่าประทับใจที่พ่อได้ยินจากคุณพ่อรุ่นน้องคนนั้น เพราะเขาเงียบกับคำถามของพ่อที่ค่อนข้างถามจริง และดูเหมือนเขาคิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะคำตอบนั้นออกมาอย่างทันทีว่า “ผมว่า ‘ความเมตตา’ ” ทุกคนที่เป็นพระสงฆ์และคริสตชนทุกคนด้วย

 “ความเมตตา กรุณา” คือ เครื่องหมายแห่งความเป็นบุตรของพระเจ้า และต้องเป็นเครื่องหมายที่เห็นได้ว่าเราเป็นคริสตชนอย่างแน่นอน

พ่อดีใจกับคำตอบที่ได้รับ เพราะว่าสมเด็จพระสันตะปาปาเพิ่งจะเน้นย้ำถึงความเป็นสงฆ์ว่า

“พระสงฆ์ เป็นพยานและศาสนบริกรแจกจ่ายพระกรุณาของพระเจ้า”

พ่อไม่จำกัดความเป็นสงฆ์ไว้ที่พวกคุณพ่อในใจความที่ต้องเป็นพยานและแจกจ่ายพระกรุณาอย่างแน่นอน เพราะแน่นอนที่สุด พวกเราต้องพยายามเป็นอย่างนั้น แม้บางครั้งพวกพ่อยังคงอ่อนแออยู่ เพราะความเป็นมนุษย์ก็ตาม แต่พ่ออยากจะยืนยันว่า เราทุกคน คือ “พี่น้องคริสตชนทุกคนด้วย”

ศีลล้างบาป
ทำให้เราทุกคนได้เข้ามีส่วนในความเป็นสงฆ์ “สังฆภาพสามัญ”  กล่าวคือ เราได้เข้ามามีส่วนในความศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสตเจ้า เราจึงต้องประกาศซึ่งพระกรุณาของพระองค์เช่นกัน

ความเมตตากรุณานั้นคือสิ่งที่พ่อจะขอนำมาเสนอให้กับพี่น้องในวันนี้
เป็นคุณธรรมสูงที่เราได้รับการดลใจจากพระวาจาของพระเจ้า เพื่อว่าเราจะสามารถนำพระคุณ พระพร และคุณธรรมประการนี้กลับไปดำเนินชีวิตจริงในชุมชนของเรา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวของเรา

พ่ออยากจะขอพูดถึงเรื่องนี้โดยสรุปเนื้อหาจากพระวาจาของพระเจ้าที่เราได้ยินได้ฟังในวันนี้

ในบทอ่านแรกจากหนังสือพงศ์กษัตริย์

เรื่องราวของประกาศก เอลียาห์ ที่ได้พบกับ หญิงม่าย ที่เมืองศาเรฟัท


ขณะที่เกิดกันดารอาหาร
และหญิงม่ายคนนี้ดูเหมือนกำลังจะต้องตายพร้อมกับบุตร
หลังจากที่เหลือเพียงแป้งสาลีหนึ่งกำมือและน้ำมันเล็กน้อยในไห
นางกำลังเตรียมอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับตนเองและบุตร
และก็ต้องตายแน่ๆ

ท่านประกาศกเอลียาห์มาพบนาง
และขอน้ำพร้อมกับการขออาหารจากนางด้วย


ความหมายที่เราพบคือ

ประกาศกมาพร้อมกับคำสัญญาของพระเจ้าสำหรับนาง

“อย่างกลัวเลย จงไปทำตามที่เจ้าพูดเถิด
แต่จงทำขนมปังก้อนเล็กให้ฉันก่อนและเอามาให้ฉัน
แล้วจึงทำสำหรับตัวเจ้าและลูกของเจ้าภายหลัง

เพราะพระยาห์เวห์พระเจ้าของอิสราเอลตรัสดังนี้ว่า

‘แป้งในหม้อนั้นจะไม่หมด
และน้ำมันในไหนั้นจะไม่ขาด...’ ”



และผลก็คือ

เพราะนางทำตามเสียงของพระเจ้าโดยผ่านทางประกาศก พระเจ้าทรงแสดงพระกรุณาต่อนางและลูกให้ทั้งสองไม่ขาดอาหาร พระองค์ทรงประทานให้ตามคำของเอลียาห์ “แป้งในหม้อนั้นจะไม่หมด และน้ำมันในไหนั้นจะไม่ขาด...”

จากพระวรสารนักบุญมาระโก

เราพบตัวบุคคลที่เป็นเนื้อหาเดียวกันคือ “หญิงม่ายยากจน” ที่เอาเงินเหรียญทองแดงสองอัน มีค่าประมาณเพียงหนึ่งสลึงมาใส่ตู้ทาน

พระเยซูเจ้าทรงเห็นการกระทำนั้น ซึ่งไม่สามารถเปรียบได้กับค่าเงินมากมายที่คนร่ำรวยมีเหลือและนำมาใส่ และพระองค์ตรัสว่า

“เราขอบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า หญิงม่ายยากจนคนนี้ได้ทำทานมากกว่าทุกคน”

แน่นอนเรามองด้านหนึ่งอาจเห็นว่าเป็นเรื่องการทำบุญที่มีความหมายซึ่งถูกต้องทีเดียว


แต่อีกมุม คือจากมุมของพระเยซูเจ้า เห็นว่าพระองค์ทรงเห็นหรือทรงทอดพระเนตรการกระทำของหญิงม่ายด้วยความเข้าใจและด้วยความกรุณา และยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ในกิจการที่นางได้กระทำ เพราะแม้ในท่ามกลางการขัดสนที่สุด นางให้ทานนั้นในพระวิหาร ซึ่งความหมายของการให้ทาน คือการแสดงความเมตตากรุณาอย่างชัดเจน


จากตัวบททั้งสอง ถ้าพ่อจะนำเอาตัวบุคคลจากหนังสือพงศ์กษัตริย์ และจากพระวรสารมาสรุป เราจะพบว่า ในพระคัมภีร์เมื่อกล่าวถึง

“หญิงม่าย” นั้น ย่อมหมายความว่าเป็นบุคคลที่ต้องการความเมตตาสงสาร และต้องการความช่วยเหลือในสังคม เพราะสังคมชาวยิวนั้น ภรรยาจะมีความมั่นคงต้องมีสามีดูแลเอาใจใส่ และให้ความเมตตา การเป็นม่ายถือว่าเป็นความโชคร้ายและต้องขาดที่พึ่งพิง และต้องจัดว่าเป็นบุคคลชายขอบสังคมที่ต้องเรียกร้องขอความกรุณาจากคนอื่น

สิ่งที่เราพบในสองตอนจากพระคัมภีร์คือ

• หญิงม่าย ที่เมืองศาเรฟัท
นางได้พยายามทำในส่วนที่พอทำได้โดยไม่หวงแหนที่ได้ให้แก่ประกาศกเอลียาห์ และที่สำคัญชีวิตของนาง

ตลอดการกันดารอาหารนั้นได้อยู่ในสายพระเนตรของพระเจ้า  และในพระญาณเอื้ออาทรของพระองค์

• หญิงม่าย ที่พระวิหาร
นางได้ให้ความเมตตาจากส่วนที่จำเป็นที่สุดเช่นกัน และนางได้รับ การประกันแห่งพระกรุณา จากองค์พระเยซูเจ้า และพระองค์ประกาศถึงความกรุณาที่แท้จริงที่นางได้กระทำ

พ่อจึงมาถึงบทสรุปว่า คำตอบของพระสงฆ์หนุ่มรุ่นน้องของพ่อองค์นั้นตรงประเด็นคือ “ความเมตตากรุณา” นี่แหละคือลักษณะของพระเจ้าที่มีอยู่ตลอดในพระคัมภีร์ ในประวัติศาสตร์แห่งความรอด และเราพบความเมตตากรุณาสูงสุดในองค์พระเยซูเจ้าในพระวาจาทรงชีวิตและในพระแบบฉบับแห่งการมอบชีวิตของพระองค์ นี่เองที่พ่ออยากจะเสนอให้กับพี่น้องและให้กับตัวพ่อเองด้วยว่า

เราต้องเป็น และต้องดำเนินชีวิตโดยให้พระสิริของพระเจ้าปรากฏในชีวิตของเราอย่างแท้จริง พ่อขอขยายความเพื่อเราสามารถปฏิบัติได้ง่ายขึ้น และพ่อเชื่อว่านี่แหละเป็นหนทางแห่งชีวิตคริสตชน เพราะพระเยซูเจ้าทรงสอนว่า

“จงมีใจเมตตากรุณาดังเช่นพระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่านทรงมีใจเมตตากรุณาเถิด”

และเราจะทำอย่างไร? พ่อขอสรุปด้วยการตีความคำว่าเมตตากรุณาดังนี้ คือ คำว่า
“เมตตากรุณา” ในภาษาลาตินคือ “Misericordia”

ซึ่งมาจากคำสองคำผสมกัน และต้องแปลว่า “การมีใจรู้สึกสงสาร หรือหัวใจที่รู้สึกสงสาร” แต่ทว่าเพียงเท่านี้หรือที่แปลว่าเรามีใจเมตตากรุณาแล้ว พ่อพบความจริงจากคำศัพท์นี้อีกคำหนึ่งคือ เนื่องจากคำว่า “เมตตากรุณา” ในภาษาลาตินยังมีอีกคำหนึ่งด้วยคือ “CumPassio” ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Compassion” มีความหมายว่า “การร่วมทุกข์ด้วยกัน หรือการทำอะไรบางอย่างร่วมด้วยในความทุกข์นั้น”  

พ่อจึงสรุปว่า การมีใจเมตตากรุณานั้นคือ • การเริ่มที่ความรู้สึกสงสารเมื่อเห็นความทุกข์ลำบากของเพื่อนพี่น้องรอบข้าง บางครั้งถึงขนาดที่ต้องหลั่งน้ำตาทีเดียว เพราะภาพความทุกข์ที่ปรากฏ แต่ต้องไม่จบเพียงเท่านั้น ยังต้องมีการกระทำที่สำคัญคือ • ต้องร่วมในความทุกข์นั้นด้วยการยื่นมือออก เสียสละ หยิบยื่นความช่วยเหลืออย่างจริงจังด้วย

พี่น้องที่รัก พ่อขอสรุปสั้นๆ ว่า ให้เราไปและมีความเมตตากรุณาเถิด เพราะนี่คือลักษณะของพระเจ้าของเรา

 “พระบิดาทรงรักโลกถึงกับส่งพระบุตรแต่พระองค์เดียวของพระองค์มาเพื่อเรา”

เราเห็นความเอาใจใส่ของพระเจ้าต่อคนชายขอบสังคมเช่นหญิงม่ายในพระคัมภีร์ เราเห็นความตายของพระบุตรของพระเจ้าซึ่งเพราะความรักของพระบิดาเจ้า เราเห็นวีรกรรมต่างๆ จากบรรดานักบุญ และเราเล่าเราเห็น เรารับรู้ความทุกข์ ความสงสาร และร่วมทุกข์กับผู้อื่นด้วยการให้ การหยิบยื่นที่เสียสละเพียงใด ให้เราไปและดำเนินชีวิตเมตตากรุณาเถิด

ขอพระเจ้าอวยพร


วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2553

มิสซามีคุณค่ามหาศาล



พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ

หนังสือศรัทธาเล่มนี้ แปลจาก The Holy Mass
โดย แคทาลีน่า รีวาซ ผู้บันทึกเรื่องราว
ภายหลังได้รับคำอธิบายจากพระเยซูเจ้าและแม่พระ
ในเรื่อง ธรรมล้ำลึกของมิสซา

ภราดา แดเนียล แกญัง (OMI
กรรมการผู้ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับข้อความเชื่อและศีลธรรม ของ อัครสังฆมณฑล เม็กซิโก
ได้ทำการตรวจสอบ และไม่พบข้อความใดที่ขัดต่อข้อความเชื่อและธรรมประเพณีของพระศาสนจักร
โดย พระสังฆราชเรเน่ เฟอร์นันเดช อปาชา เป็นผู้ลงนามอนุมัติให้ตีพิมพ์เผยแพร่

แคทาลีน่า รีวาซ
อาศัยอยู่ใน โกชาบัมบา ประเทศโบลิเวีย
เป็นแม่บ้าน
การศึกษาระดับมัธยมต้น และไม่มีพื้นฐานด้านศาสนาหรือเทววิทยาเลย

โกชาบัมบา มีพระรูปพระคริสตเจ้ากันแสงเป็นเลือด

ในปี ค.ศ.1993 เธอได้เปิดใจรับพระเมตตาจากพระและกลับใจ
ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาที่แคทาลีน่า เริ่มได้รับสารจากพระเยซูเจ้าและแม่พระ

ปี ค.ศ.1994 แคทาลีน่า รีวาซ ได้ไปแสวงบุญ ที่ คอนเยอร์ส จอร์เจีย
ในโอกาสวาระครบรอบ การประจักษ์ของแม่พระ ปีที่ 13
ในระหว่างที่เธอคุกเข่า ถวายตัวอยู่ต่อหน้ากางเขน ที่ โฮลี่ฮิลล์ นั้น
เธอเริ่มได้รับความเจ็บปวดจากการถูกตรึงกางเขนของพระคริสตเจ้า

ต่อมาในปี ค.ศ.1996 รอยแผลศักดิ์สิทธิ์ที่มือ เท้า และสีข้างของเธอได้ปรากฏให้เห็น

แคทาลีน่า รีวาซ
ร่ำเรียนมาน้อย แต่ในระหว่างสามปีที่เธอได้รับสารจากเบื้องบนให้จดตามนั้น
เธอสามารถเขียนหนังสือได้ถึงแปดเล่ม หรือราว 4,000-5,000 หน้า
โดยไม่มีข้อผิดพลาด ด้านเทววิทยา สังคมศาสตร์ ชีวิตมนุษย์ และคำสอนฝ่ายจิต จากพระเป็นเจ้า
หนังสือของเธอได้รับการรับรองจากพระสังฆราชท้องถิ่นทุกเล่ม

วันที่ 4 เมษายน ค.ศ.1999 ซึ่งตรงกับวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
ทีมงานฟ็อกซ์ ได้บันทึกเรื่องราวที่เธอได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์
และได้นำเทปวีดิทัศน์ เรื่อง พระรูปพระคริสตเจ้ากันแสงเป็นเลือด
มาออกอากาศในอเมริกาเหนือ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในช่วงเวลาที่มีผู้ชมมากที่สุด

แคทาลีน่า รีวาซ เป็นพยานเรื่องมิสซา
• เพื่อเทิดพระเกียรติมงคลของพระเป็นเจ้า และเพื่อความรอดของผู้ต้องการเปิดใจรับพระองค์
• เพื่อให้เราหลุดพ้นจาก “การรับพระองค์ด้วยความเคยชิน”
• เพื่อให้ความน่าพิศวง ของ พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ ติดตรึงอยู่ในจิตใจของเราตลอดไป....


วันนั้น...
เป็น วันเตรียมสมโภชการแจ้งสาร เรื่อง พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์
ฉันไปถึงวัดสายไปนิด
ตอนที่พระอัครสังฆราช ผู้เป็นประธานในพิธี และบรรดาพระสงฆ์ ตั้งขบวนออกมาจากห้องสักการภัณฑ์แล้ว
แม่พระ กล่าวด้วยน้ำเสียงนุ่นนวลไพเราะจับจิต ดังนี้

“วันนี้ เป็นวันที่ลูกจะได้รับความรู้
และแม่อยากให้ลูกเอาใจใส่ให้ดี กับสิ่งที่ลูกจะได้ รู้ เห็น เป็นพยาน
ลูกควรเล่าทุกอย่างที่ลูกจะรู้ ผ่านประสบการณ์ในวันนี้ให้ทุกคนฟัง”

เสียงแรกที่ได้ยินเป็นแว่วเสียงประสานที่ไพเราะยิ่ง ราวกับขับขานอยู่ไกลลิบ
เสียงเพลงเริ่มดังใกล้เข้ามา แล้วก็เลือนหายไปราวสายลม

พระอัครสังฆราช เริ่มพิธีมิสซาแล้ว
พอถึงช่วง การสารภาพความผิด
แม่พระกล่าวว่า

“ลูกจงขอการอภัยจากองค์พระผู้เป็นเจ้า จากส่วนลึกของหัวใจ
ในความผิดบกพร่องทั้งหลายที่ลูกได้กระทำล่วงเกินพระองค์
เพื่อลูกจะได้ร่วมมิสซาอันทรงเกียรตินี้อย่างคู่ควร”

ฉันคิดอยู่แวบหนึ่ง
‘ฉันอยู่ในสถานะพระหรรษทานแน่ ก็ฉันเพิ่งไปแก้บาปมาเมื่อคืน’

แม่พระ ตอบ

“ลูกคิดหรือว่า ลูกไม่ได้ล่วงเกินองค์พระผู้เป็นเจ้าอีก
หลังจากแก้บาปมาเมื่อคืน ให้แม่ทบทวนความจำให้ลูกสักนิดเถิด

•ตอนลูกเร่งออกจากบ้านจะมาวัด เด็กรับใช้เข้ามาขออะไรบางอย่างจากลูก
พอดีลูกกำลังรีบ จึงตอบเธอไปด้วยน้ำเสียงไม่สู้ดีนัก ลูกขาดความเมตตา
แล้วลูกกลับบอกว่า ลูกมิได้ล่วงเกินพระเป็นเจ้ากระนั้นหรือ...

•แล้วระหว่างทางมาวัด ลูกโดนรถเมล์ขับปาดหน้าเกือบชนลูก
ลูกได้แสดงกิริยาที่ไม่สมควรต่อชายคนนั้น
แทนที่จะสวดภาวนาและเตรียมตัวเข้ามิสซา
ลูกไม่อยู่ในศีลในพร จิตใจขาดความสงบ ไม่รู้จักหักห้ามใจ
แล้วลูกกลับมาบอกว่า ลูกมิได้ทำร้ายองค์พระผู้เป็นเจ้ากระนั้นหรือ...
•ลูกมาถึงเอาตอนที่พระสงฆ์ตั้งขบวนเข้าพิธีแล้ว
ลูกกำลังไปร่วมมิสซาโดยไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้าเลย...

“ทำไมนะ ลูกๆ ถึงได้มากันตอนนาทีสุดท้าย ลูกควรมาถึงวัดให้เร็วขึ้น เพื่อจะได้ภาวนาวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้า ให้ส่งพระจิตของพระองค์ลงมาประทานความสำรวมใจให้ลูก และชำระลูกให้ปลอดจากจิตของโลก จากความวิตกกังวล จากปัญหาและความวอกแวก เพื่อลูกจะได้อยู่กับห้วงเวลาที่แสนศักดิ์สิทธิ์นี้สักชั่วขณะ แต่ลูกมาถึงเอาตอนที่พระสงฆ์จวนเริ่มพิธีแล้ว แล้วลูกร่วมมิสซาอย่างกับเป็นเหตุการณ์ปกติ โดยไม่มีการเตรียมจิตใจ เพราะเหตุใดกัน นี่เป็นอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ลูกกำลังอยู่ในช่วงที่พระเจ้าสูงสุดประทานพระพรอันใหญ่ยิ่งของพระองค์แก่ลูก แต่ลูกกลับไม่รู้จักเห็นคุณค่าของมิสซา”

ฉันรู้สึกแย่เอามากๆ เพียงไม่กี่เรื่องนี้ ก็สมควรขอการอภัยจากพระเป็นเจ้าอย่างยิ่งแล้ว มิใช่เฉพาะความผิดบกพร่องของวันนั้น แต่สำหรับทุกครั้งที่ฉันรอเข้าวัด ตอนที่พระสงฆ์เทศน์จบเหมือนกับคนอื่นๆ ฉันขอโทษพระองค์ ที่บางครั้งฉันไม่ยอมรับรู้ว่าฉันมาร่วมมิสซาทำไม เป็นไปได้ว่าฉันกล้าไปร่วมมิสซา ทั้งๆ ที่วิญญาณอาจเต็มไปด้วยบาปหนัก

วันนั้นเป็นวันสมโภช พอถึงตอนสวดบทพระสิริรุ่งโรจน์ แม่พระตรัสดังนี้
“จงสรรเสริญพระตรีเอกภาพ และถวายพระพรแด่พระองค์ ด้วยความรักทั้งหมดที่ลูกมี เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณในฐานะที่ลูกเป็นสิ่งสร้างของพระองค์คนหนึ่ง”

บทพระสิริรุ่งโรจน์คราวนั้นช่างต่างจากเดิมเสียนี่กระไร!

ทันใดนั้น ฉันเห็นตัวฉันเองในสถานที่สว่างไสวไกลโพ้นเฉพาะพระพักตร์พระเป็นเจ้า ฉันโมทนาพระคุณพระองค์ด้วยความรักเต็มเปี่ยม
“ขอสรรเสริญพระองค์ ขอถวายพระพรแด่พระองค์ ขอกราบนมัสการพระองค์ ขอถวายพระเกียรติแด่พระองค์ ขอขอบพระคุณพระองค์ เพราะพระองค์ทรงพระเกียรติเลอเลิศ พระเจ้าข้า พระองค์คือพระราชาสวรรค์ พระเป็นเจ้า พระบิดา ทรงสรรพานุภาพ”
แล้วฉันก็รำลึกถึงพระพักตร์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความอ่อนโยนของพระบิดา
“ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรแต่องค์เดียว พระเจ้าข้า พระองค์คือพระบุตรพระบิดา ทรงเป็นลูกแกะของพระเจ้า ผู้พลีพระชนม์เพื่อยกบาปของโลก...”
และพระเยซูเจ้าประทับเบื้องหน้าฉัน พระพักตร์พระองค์เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา...
“ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระองค์ผู้เดียวศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ผู้เดียวทรงเป็นเจ้า พระองค์ผู้เดียวสูงสุด ร่วมกับพระจิต...”
พระเจ้าแห่งความรักล้ำเลิศ พระองค์ผู้ซึ่งในขณะนั้นทำให้ฉันสะท้านไปทั่งสรรพางค์... แล้วฉันก็วอนขอ
“พระเจ้าข้า โปรดช่วยให้ลูกพ้นจากพยศชั่วทั้งหลาย หัวใจของลูกเป็นของพระองค์ โปรดประทานสันติสุขของพระองค์แก่ลูกเถิด ลูกจะได้สามารถรับประโยชน์อันล้ำเลิศจากศีลมหาสนิท และชีวิตของลูกจะได้บังเกิดผลสูงสุด พระจิตแห่งพระเจ้า โปรดเปลี่ยนสภาพของลูก โปรดทรงงานในตัวลูก โปรดนำทางลูก ข้าแต่พระเจ้า โปรดประทานพระพรแก่ลูก เพื่อลูกจะได้ปรนนิบัติรับใช้พระองค์ได้ดียิ่งขึ้น!”

พอถึง ภาควจนพิธีกรรม แม่พระให้ฉันกล่าวตามดังนี้
“พระเจ้าข้า วันนี้ลูกปรารถนาจะฟังพระวาจาของพระองค์ แล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โปรดให้พระจิตของพระองค์ชำระจิตใจของลูก เพื่อให้พระวาจาของพระองค์จำเริญงอกงามขึ้นภายใน และบันดาลให้จิตใจของลูกมีแต่เจตนาอันดีงาม”

แม่พระตรัส “แม่อยากให้ลูกตั้งใจฟังบทอ่าน และบทเทศน์ของพระสงฆ์ให้ดี ระลึกไว้เถิดว่า พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า พระวาจาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้าจะไม่กลับมาไร้ผล (เทียบ อสย.55:11) ถ้าลูกเอาใจใส่ บางสิ่งที่ลูกได้ยินมา จะดำรงอยู่กับลูก ลูกควรพยายามรำลึกถึงพระวาจาที่ทำให้ลูกประทับใจเหล่านั้นไปตลอดวัน บางครั้งมีสองข้อ ครั้งอื่นอาจเป็นบทอ่านพระวรสารทั้งหมด หรืออาจเป็นแค่คำเพียงคำเดียว จงชื่นชมกับข้อคิดที่ได้ไปตลอดวัน แล้วถ้อยคำนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของลูก เพราะนั่นเป็นลู่ทางที่เปลี่ยนชีวิตคนเรา โดยการยินยอมให้พระวาจาของพระเป็นเจ้าเปลี่ยนลูก... ถึงตอนนี้ จงบอกองค์พระผู้เป็นเจ้าว่าลูกพร้อมจะฟังแล้ว บอกพระองค์ว่าลูกอยากให้พระองค์ตรัสในจิตใจของลูกวันนี้”

ฉันขอบคุณพระเป็นเจ้าอีกครั้ง ที่ให้ฉันมีโอกาสได้ฟังพระวาจาของพระองค์ และฉันวอนขอให้พระองค์ยกโทษให้ฉันด้วย ที่ฉันทำใจแข็งมานานหลายปี ทั้งยังสอนลูกๆ อีกว่า พวกเขาต้องไปวัดวันอาทิตย์ เพราะเป็นข้อกำหนดของพระศาสนจักร และไม่ได้บอกลูกๆ ว่าให้ไปวัดเพราะรักพระ และต้องการให้พระเติมเต็มชีวิตเขา
ฉันไปร่วมพิธีมิสซาบ่อยมาก ส่วนใหญ่ไปเพราะปฏิเสธไม่ได้ และเพราะเหตุนี้เอง ฉันจึงเชื่อว่าฉันรอดแน่ แต่จิตใจไม่ได้เข้าถึงพิธีกรรม แล้วก็ไม่ได้ตั้งใจฟังบทอ่านหรือบทเทศน์ของพระสงฆ์เลย ! เป็นความรู้สึกที่เจ็บปวดนัก เมื่อความไม่รู้ทำให้ฉันต้องเสียเวลาไปนานหลายปีโดยใช่เหตุ !
เราไปร่วมมิสซาอย่างฉาบฉวย เวลาที่เราไปเพราะมีพิธีแต่งงาน มีมิสซาปลงศพ หรือไปเพียงเพื่อออกงานสังคม เราไม่ได้รู้เรื่องของพระศาสนจักรและศีลศักดิ์สิทธิ์เลย เรามัวแต่สอนตัวเองให้รู้แจ้งเกี่ยวกับเรื่องทางโลกวัตถุที่ล่วงเสียไปได้ในพริบตา แล้วก็มิได้ต่อชีวิตคนเราให้ยืนยาวออกไปได้สักนาที แต่เราผู้เรียกตัวเองว่าเป็นมนุษย์ผู้เจริญแล้ว กลับไม่รู้เรื่องที่ทำให้เราได้ลิ้มรสสวรรค์บนแผ่นดิน อันเป็นชีวิตนิรันดรต่อภายหลัง !

ครู่ต่อมา ถึงภาคถวาย แม่พระให้ฉันสวดตามดังนี้
“พระเจ้าข้า ลูกขอถวายทุกสิ่งที่ลูกเป็น ทุกสิ่งที่ลูกมี ทุกสิ่งที่ลูกสามารถถวายได้ ลูกขอมอบทั้งหมดไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ โปรดรวบรวมสิ่งเหล่านี้พร้อมกับความต่ำต้อยของลูกเถิด พระเป็นเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ โปรดเปลี่ยนลูกด้วยเดชะพระบารมีของพระบุตรของพระองค์ ลูกอ้อนวอนพระองค์เพื่อครอบครัวของลูก เพื่อผู้มีพระคุณต่อลูก เพื่อผู้แพร่ธรรมของเราแต่ละคน เพื่อทุกคนที่ต่อต้านเรา เพื่อบรรดาผู้ที่มอบตัวเขาไว้ในคำภาวนาที่ด้อยคุณภาพของลูก โปรดสอนให้ลูกมีความไว้วางใจอย่างสิ้นสุดจิตใจก่อนเถิด เพื่อว่าการดำเนินชีวิตของท่านเหล่านั้นจะได้รับความบรรเทา... นี่คือวิธีที่ผู้ศักดิ์สิทธิ์ภาวนา นี่คือวิธีที่แม่อยากให้ลูกทุกคนทำ”
ทันใดนั้น มีลักษณะบางอย่างที่ฉันไม่เคยเห็นมาก่อน เริ่มลุกขึ้นยืน ราวกับมีอีกคนแยกออกมาจากด้านข้างของแต่ละคนที่อยู่ในอาสนวิหาร แล้วไม่ทันไร ที่นั่นก็เต็มไปด้วยผู้คนอ่อนวัยและงดงาม พวกเขาสวมชุดขาวยาว แล้วเริ่มเคลื่อนไปยังช่องทางเดิน ตรงไปยังพระแท่น
แม่พระตรัส “ดูให้ดีเถิด พวกเขาคืออารักขเทวดาของแต่ละคนที่อยู่ ณ ที่นี้ นี่เป็นช่วงที่อารักขเทวดาของลูกๆ นำของถวายและคำวิงวอนของลูกไปยังแท่นบูชาของพระเจ้า”
ฉันถึงกับตะลึง เทวดาเหล่านี้มีใบหน้าที่งดงามเพริศแพร้ว ซึ่งค่อนไปทางใบหน้าผู้หญิง แต่ทว่าเค้าโครงรูปร่าง มือ และส่วนสูง มีลักษณะเป็นชาย เท้าเปล่าไม่แตะพื้น แค่ราวกับร่อนไปมากกว่า ขบวนที่เคลื่อนไปนั้นงดงามมาก บางองค์ถือบางอย่างเหมือนขันทองที่มีอะไรบางอย่างเปล่งแสงสีทองเรื่อๆ
แม่พระตรัส “พวกเขาคืออารักขเทวดาของคนที่ถวายมิสซานี้เพื่อจุดประสงค์ต่างๆ เป็นของคนซึ่งตระหนักรู้ถึงความหมายของมิสซานี้ เขาเหล่านั้นมีของมาถวายพระเจ้า... จงถวายตัวลูกในช่วงนี้ ถวายความทุกข์ ความเจ็บปวด ความหวัง ความเศร้า ความเบิกบานยินดี คำอ้อนวอนต่างๆ จงระลึกไว้เถิดว่ามิสซามีคุณค่ามหาศาล ลูกจึงควรมีน้ำใจดีที่จะถวายและวอนขอ”

เทวดาที่อยู่ถัดจากองค์แรกๆ มามือเปล่า แม่พระตรัสว่า
“เทวดาเหล่านั้นเป็นอารักขเทวดาของคนที่มาที่นี่ แต่ไม่เคยถวายอะไร เขาเหล่านั้นไม่ได้ร่วมส่วนในช่วงพิธีกรรม แล้วก็ไม่มีของบรรณาการที่จะนำมาถวายหน้าแท่นบูชาของพระเจ้า”

ท้ายขบวนนั้น มีบรรดาเทวดาที่ออกจะหน้าเศร้ากว่าเพื่อน พนมมือภาวนา แต่หลบสายตาลงต่ำ
“เทวดาเหล่านี้เป็นอารักขเทวดาของคนที่ฝืนใจมาร่วมมิสซา นั่นก็คือคนที่ถูกบังคับให้มา คนที่มาเพราะเป็นวันฉลองบังคับ แต่ไม่ได้อยากมา เทวดาเหล่านั้นเดินไปยังพระแท่นอย่างเศร้าสร้อย เพราะไม่มีอะไรที่จะนำไปถวาย นอกจากคำภาวนาของพวกเขาเองเท่านั้น...
อย่าทำให้อารักขเทวดาของลูกเศร้าเสียใจเลยนะ จงวอนขอให้มาก วอนขอเพื่อให้คนบาปกลับใจ เพื่อสันติภาพของโลก เพื่อครอบครัวของลูก เพื่อเพื่อนบ้านของลูก เพื่อผู้ที่ขอคำภาวนาจากลูก จงขอ...ขอให้มาก...แต่มิใช่เพื่อตัวลูกเองเท่านั้น แต่เพื่อผู้อื่นด้วย... จงระลึกไว้เถิดว่า ของถวายที่พระเจ้าโปรดปรานที่สุด คือการที่ลูกถวายตัวของลูกเองเป็นเครื่องบูชา เพื่อว่าเมื่อพระเยซูเจ้าทรงถ่อมองค์ลงมา พระองค์จะได้เปลี่ยนสภาพลูกด้วยเดชะพระบารมีของพระองค์ ตัวลูกเองนั้นมีสิ่งใดจะถวายแด่พระบิดาเจ้าหรือ ไม่มีอะไรเลย นอกจากบาป แต่การถวายตัวลูกร่วมกับบุญกุศลของพระเยซูเจ้าต่างหาก ที่ทำให้ของถวายนั้นเป็นที่สบพระทัยพระบิดา”

ภาพขบวนเทวดาที่แลเห็นนั้นงดงามเหลือจะเปรียบปาน ชาวสวรรค์เหล่านั้นคำนับลงหน้าพระแท่น บางองค์วางของถวายไว้ที่พื้น บางองค์ก้มกราบจนศีรษะเกือบจรดพื้น แล้วทันทีที่พวกเขาเดินไปถึงพระแท่น พวกเขาก็หายวับไปกับตา

พอถึงช่วงท้ายของบทขอบพระคุณ เมื่อผู้มาร่วมชุมนุมกล่าว “ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์” ทุกอย่างที่อยู่เบื้องหลังพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีก็อันตรธานหายไปในบัดดล นิกรเทวดาจำนวนหลายพัน ปรากฏองค์เป็นแนวทแยงด้านหลังทางซ้ายมือของพระอัครสังฆราช ทุกองค์สวมชุดยาว คุกเข่าลง พนมมือในท่าภาวนา และก้มศีรษะแสดงความเคารพ ฉันได้ยินเสียงเพลงอันไพเราเสนาะโสต ราวกับมีนิกรเทวดาหลายหมู่เหล่ามาร่วมขับเพลงประสานเป็นเสียงเดียวกับมนุษย์ว่า... ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์...
ภาคบทขอบพระคุณ เป็นช่วงมหัศจรรย์ยิ่ง เบื้องหลังทางขวามือของพระอัครสังฆราชนั้น มีฝูงชนกลุ่มใหญ่ปรากฏกายขึ้นเป็นแนวทแยง พวกเขาสวมชุดยาวสีเฉดอ่อนหลากสี ใบหน้ามีสง่าราศี ดูราวกับพวกเขาอยู่ในวัยเดียวกัน พวกเขาคุกเข่าลงด้วย ตอนขับร้อง “ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าจอมจักรวาล...”
แม่พระตรัสดังนี้
“พวกเขาคือบรรดานักบุญ และผู้ศักดิ์สิทธิ์ชาวสวรรค์ และในท่ามกลางพวกเขาเหล่านั้น คือญาติพี่น้องของลูกที่ได้ชื่นชมพระบารมีพระเป็นเจ้าแล้ว”
แล้วฉันก็เห็นแม่พระทางด้านขวาของพระอัครสังฆราช ห่างจากท่านก้าวหนึ่ง พระแม่ลอยอยู่เหนือพื้นเล็กน้อย คุกเข่าอยู่บนพัสตราภรณ์บางใส ช่วงโชติเหมือนผืนน้ำที่ใสเหมือนผลึก แม่พระพนมมือ มองมายังพระอัครสังฆราชอย่างสำรวม และอย่างยกย่องให้เกียรติ แม่พระตรัสกับฉันทางจิตจากตรงนั้นโดยมิได้มองมาทางฉัน
“ลูกแปลกใจใช่ไหม ที่เห็นแม่อยู่เบื้องหลังพระคุณเจ้า (พระอัครสังฆราช) นี่คือสิ่งที่ควรเป็น... พระบุตรทุ่มเทความรักให้แม่ก็จริง แต่พระองค์มิได้ประทานศักดิ์ศรี ให้สองมือแม่สำแดงอัศจรรย์ทุกวันเหมือนอย่างพระสงฆ์ แม่จึงยกย่องพระสงฆ์อย่างยิ่ง และให้เกียรติแก่อัศจรรย์ที่พระเป็นเจ้าทางดำเนินการผ่านพระสงฆ์ ซึ่งทำให้แม่จำเป็นต้องคุกเข่าอยู่ตรงนี้เบื้องหลังท่าน”
เราบางคนไม่ได้สำนึกด้วยซ้ำไปว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าประทานศักดิ์ศรี และพระหรรษทานแก่พระสงฆ์มากมายขนาดไหนในเรื่องนี้

หน้าพระแท่นปรากฏเงาทึมๆ ของผู้คนที่ชูมือขึ้น แม่พระตรัสดังนี้
“บุคคลเหล่านี้คือวิญญาณในไฟชำระ ผู้รอรับคำภาวนาจากลูกเพื่อชุบชูวิญญาณ อย่าหยุดสวดให้เขาเหล่านั้น พวกเขาสวดให้ลูก แต่ไม่สามารถสวดให้ตัวเองได้ ลูกนั่นแหละที่ควรสวดให้พวกเขา เพื่อช่วยพวกเขาให้พ้นจากไฟชำระเร็วขึ้น จะได้ไปอยู่กับพระเป็นเจ้า และชื่นชมพระองค์ไปตลอดนิรันดร”
“ทีนี้ลูกก็เห็นแล้วสินะว่า แม่อยู่ที่นี่ตลอดเวลา ผู้คนพากันไปจาริกแสวงบุญเพื่อแสวงหาแม่ในสถานที่ที่แม่เคยไปประจักษ์ ก็เป็นเรื่องดี เพราะเขาได้รับพระหรรษทานานัปการที่นั่น แต่ระหว่างที่แม่มิได้ประจักษ์นั้น ไม่มีที่ไหนที่แม่อยู่มากไปกว่าระหว่างพิธีมิสซา ลูกจะพบแม่ได้เสมอที่เชิงพระแท่นที่กำลังมีพิธีมิสซา ที่ฐานของตู้ศีล แม่อยู่ตรงนั้นพร้อมกับเทวดา เพราะแม่อยู่กับพระองค์เสมอ”

การได้ชื่นชมพระพักตร์พระแม่ในช่วงที่กล่าวคำว่า ‘ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์...’ อีกทั้งได้เห็นดวงหน้าอื่นๆ ที่บ่งบอกถึงความสุข พนมมือรอคอยอัศจรรย์ที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างต่อเนื่องนั้น เหมือนได้อยู่ในสวรรค์ไม่มีผิด แล้วฉันก็นึกถึงคนที่วอกแวกพูดคุยกับในช่วงเวลานั้น
ฉันเสียใจที่ต้องบอกท่านว่า ผู้ชายส่วนใหญ่ชอบยืนกอดอก ราวกับเขาแสดงความเคารพต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า ในระดับเดียวกับที่แสดงความเคารพต่อมนุษย์คนอื่นๆ
แม่พระตรัสดังนี้ “จงบอกทุกคนด้วยว่า ไม่มีผู้ใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าผู้ที่รู้จักคุกเข่าลงเฉพาะพระพักตร์พระเป็นเจ้า”

พระอัครสังฆราชกล่าว บทเสกศีล
ท่านเป็นคนร่างสูงปานกลาง แต่ท่านเริ่มสูงขึ้นในบัดดล ท่านเปี่ยมไปด้วยแสงสว่าง มีแสงเหนือธรรมชาติสีทองเรื่อๆ โอบคลุมท่าน และส่งประกายเจิดจ้าบริเวณใบหน้า ฉันจึงมองไม่เห็นเด่นชัด ฉันเห็นมือท่านตอนที่ท่านยกแผ่นศีล และที่หลังมือของท่านปรากฏรอยตำหนิที่ส่งแสงเจิดจ้าออกมา
เป็นพระเยซูเจ้านั่นเอง !
เป็นเพราะองค์เองที่สวมร่างของพระอัครสังฆราช ราวกับพระองค์โอบมือท่านไว้ด้วยความรัก
ในชั่วขณะนั้นเอง แผ่นศีลเริ่มขยายใหญ่ขึ้น เป็นแผ่นศีลขนาดมหึมา และในแผ่นศีลนั้นปรากฏพระพักตร์พระเยซูเจ้า ผู้ซึ่งกำลังมองมายังประชากรของพระองค์
ฉันก้มศีรษะลงโดยสัญชาตญาณ แล้วแม่พระตรัสดังนี้
“อย่ามองลง จงเงยหน้าขึ้นมองพระองค์ พิจารณาพระองค์ สบตาพระองค์ แล้วสวดบทภาวนาของฟาติมาตามแม่ดังนี้
‘ข้าแต่พระเจ้า ลูกเชื่อในพระองค์ ลูกนมัสการพระองค์ ลูกวางใจในพระองค์ และลูกรักพระองค์ ลูกกราบสมาโทษแทนคนที่ไม่เชื่อในพระองค์ ไม่นมัสการพระองค์ ไม่วางใจในพระองค์ และไม่รักพระองค์...’
แล้วบอกพระองค์ตอนนี้ว่าลูกรักพระองค์มากแค่ไหน แล้วขอให้ลูกถวายบังคมต่อจอมกษัตริย์”
ฉันบอกพระองค์ตามนี้ และราวกับพระองค์ทางมองจากแผ่นศีลขนาดใหญ่มาที่ฉันคนเดียว แต่ฉันทราบมาว่า พระองค์ทรงมองแต่ละคนในลักษณะเดียวกันนี้ด้วยความรักเต็มเปี่ยม ฉันซบหน้าลงจรดพื้นเหมือนกับที่เทวดาและผู้ศักดิ์สิทธิ์ทุกองค์ทำ พอท่านอัญเชิญแผ่นศีลลง แผ่นศีลก็กลับเป็นขนาดเท่าเดิม ฉันน้ำตาไหลแอบแก้ม ไม่อาจกลั้นความอัศจรรย์ใจไว้ได้

พระอัครสังฆราชกล่าวเสกเหล้าองุ่นต่อทันที ช่วงที่กล่าวอยู่นั้น ปรากฏสายฟ้าแลบจากเบื้องบนและพื้นหลัง กำแพงกับเพดานโบสถ์หายลับไป ทุกอย่างมืดสนิท เหลือแต่แสงโชติช่วงจากพระแท่น
ทันใดนั้น ฉันเห็นภาพพระเยซูเจ้าถูกตรึงกางเขน ลอยอยู่กลางอากาศ ฉันเห็นพระองค์แค่ครึ่งองค์ ถึงบริเวณใต้ทรวงอก มือขนาดใหญ่และทรงพลังประคองลำแสงที่ไขว้กันนั้นอยู่ จากด้านในของลำแสงที่โชติช่วงนั้น มีแสงเล็กๆ เหมือนกับนกพิราบ ที่ส่งประกายเจิดจรัส กระพือปีกบินไปรอบโบสถ์ แล้วมาเกาะอยู่ที่บ่าซ้ายของพระอัครสังฆราชที่ยังเห็นเป็นพระเยซูเจ้าอยู่
ที่ฉันแยกแยะออก ก็เพราะพระเกศายาวสลวยของพระองค์ รอยแผลเปล่งแสงที่เห็นได้ชัดของพระองค์ และพระวรกายของพระองค์ แต่ฉันมองไม่เห็นพระพักตร์พระองค์
เหนือขึ้นไปคือพระเยซูถูกตรึงกางเขน พระเศียรเอนลงไปทางไหล่ขวา ฉันสามารถพิจารณาพระพักตร์ ส่วนแขนที่ถูกโบย และเนื้อหนังที่เหวอะหวะ ทรวงอกด้านขวามีรอยแผล พระองค์บาดเจ็บ มีเลือดทะลักออกมาทางซีกซ้ายและซีกขวาเหมือนกับสายธารระยิบระยับ ดูเหมือนลำแสงพุ่งออกมาเป็นสายไปทางสัตบุรุษ แล้วเคลื่อนไปทางขวา แล้วก็ทางซ้าย ฉันทึ่งกับปริมาณเลือดที่ไหลชโลมจอกกาลิกษ์ ฉันนึกว่าเลือดจะไหลล้นออกมาอาบพระแท่น แต่กลับไม่มีสักหยดที่กระเซ็นออกมา
ในช่วงนั้นเอง แม่พระตรัส...
“นี่คืออัศจรรย์เหนืออัศจรรย์ทั้งหลาย แม่เคยบอกลูกแล้วว่า องค์พระผู้เป็นเจ้ามิได้ถูกจำกัดด้วยเวลาและสถานที่ พอถึงช่วงบทขอบพระคุณนั้น ผู้มาร่วมพิธีได้ถูกนำไปยังเชิงเขากัลวารีโอ ในเวลาที่พระเยซูเจ้าถูกตรึงกางเขน”
ใครเล่าจะคาดคิดได้ เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เราทุกคนไปอยู่ที่นั่นจริง ในห้วงเวลาที่พวกเขาตรึงกางเขนพระเยซูเจ้า แล้วพระองค์กำลังวอนขอให้พระบิดาประทานอภัยให้เราแต่ละคนที่ได้ทำบาปด้วย มิใช่เฉพาะคนที่ประหารพระองค์เท่านั้น
“พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร”
นับจากวันนั้นมา ฉันได้แต่ขอให้ทุกคนคุกเข่า และพยายามทุ่มเทจิตใจให้กับสิทธิพิเศษ ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้เรานี้

พอถึงตอนที่เราเริ่มจะสวดบทข้าแต่พระบิดา องค์พระผู้เป็นเจ้าเริ่มตรัสเป็นครั้งแรก
“ช้าก่อน เราต้องการให้ลูกสำรวมจิตใจสวดอย่างจริงจัง ในช่วงเวลานี้ จงระลึกถึงคนที่เคยมุ่งร้ายต่อลูกในช่วงชีวิตของลูก เพื่อว่าลูกจะได้กอดเขาไว้แนบอก และบอกเขาอย่างจริงใจว่า
‘เดชะพระบารมีของพระเยซูเจ้า ฉันยกโทษให้คุณ และขอให้คุณประสบสันติสุข เดชะพระบารมีของพระเยซูเจ้า ฉันขอให้คุณยกโทษให้ฉัน และขอให้คุณอวยพรให้ฉันประสบสันติสุข’
ถ้าคนคนนั้นคู่ควรจะได้รับความสงบสุขนั้น เขาก็จะได้รับและรู้สึกดีขึ้น ถ้าหากว่าคนคนนั้นไม่สามารถเปิดใจรับสันติสุขได้ สันติสุขนั้นก็จะกลับมาอยู่ในจิตใจของลูก แต่เราไม่ต้องการให้ลูกรับหรือมอบสันติสุขให้ใคร ถ้าลูกให้อภัยไม่ได้ และไม่ได้ซาบซึ้งถึงสันติสุขในจิตใจตั้งแต่แรก”
พระองค์ตรัสต่อ “จงรอบคอบในสิ่งที่ลูกทำ ถ้าลูกกล่าวตามบทข้าแต่พระบิดาว่า ‘โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น’ ถ้าลูกสามารถให้อภัย แต่ยังฝังใจอยู่ ก็เหมือนกับที่บางคนกล่าวไว้ว่า ลูกกำลังวางเงื่อนไขกับการให้อภัยของพระเป็นเจ้า ลูกกำลังบอกว่า พระองค์ยกโทษให้ลูกเท่าที่ลูกสามารถยกโทษให้คนอื่นก็พอ”

ฉันไม่รู้จะแจกแจงความเจ็บปวดของฉันได้อย่างไร เมื่อสำนึกได้ว่าเราทำร้ายองค์พระผู้เป็นเจ้า และทำร้ายตัวเราเองได้มากมายขนาดไหน จากการผูกใจเจ็บ เก็บความรู้สึกที่ไม่ดีไว้ มีอคติ มองเห็นแต่ข้อบกพร่องของคนอื่น แล้วก็ขุ่นเคืองง่ายเกินเหตุ
ฉันให้อภัยแล้ว... ฉันให้อภัยแล้วจากใจจริง และขอให้ทุกคนที่ฉันเคยทำให้เสียใจ โปรดยกโทษให้ฉันด้วย เพื่อฉันจะได้ซาบซึ้งถึงสันติสุขขององค์พระผู้เป็นเจ้า

ประธานในพิธีกล่าว... “โปรดให้พระศาสนจักรสงบราบรื่น มีสามัคคีธรรม...” แล้วหลังจากนั้น “ขอให้สันติสุขของพระคริสตเจ้า สถิตกับท่านทั้งหลายเสมอ”
ทันใดนั้น ฉันเห็นว่าในบรรดาคนที่กอดกันอยู่นั้น (ไม่ทุกคน) มีแสงแรงกล้ามาแทรกตรงกลางระหว่างเขา ฉันรู้ว่านั่นคือพระเยซูเจ้า ฉันโผเข้ากอดคนที่อยู่ถัดจากฉันได้อย่างสะดวกใจ ฉันสามารถสัมผัสอ้อมกอดขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้จริงๆ เป็นพระองค์นั่นเองที่กอดฉัน เพื่อมอบสันติสุขของพระองค์ให้แก่ฉัน เพราะในขณะนั้น ฉันสามารถให้อภัยและขจัดความขุ่นใจต่อคนอื่นสำเร็จ นั่นคือสิ่งที่พระเยซูเจ้าปรารถนา เพื่อแบ่งปันห้วงเวลาแห่งความชื่นชมยินดีร่วมกัน พระองค์กอดเรา และมอบสันติสุขของพระองค์ให้แก่เรา

พอถึงช่วงที่พระสงฆ์รับศีลมหาสนิท ฉันถึงได้เห็นพระสงฆ์ทุกองค์ที่อยู่ถัดจากพระอัครสังฆราช พอพวกท่านรับศีลมหาสนิท แม่พระตรัสดังนี้
“นี่เป็นช่วงเวลาที่จะภาวนาให้แก่ประธานและพระสงฆ์ที่ร่วมพิธี จงสวดภาวนาพร้อมกับแม่ดังนี้
‘พระเจ้าข้า โปรดอวยพรพวกท่าน โปรดบันดาลให้พวกท่านศักดิ์สิทธิ์ โปรดช่วยเหลือพวกท่าน โปรดรักพวกท่าน โปรดดูแลพวกท่านและค้ำจุนพวกท่านด้วยความรักของพระองค์ โปรดทรงระลึกถึงพระสงฆ์ทุกองค์ทั่วโลก โปรดภาวนาให้แก่วิญญาณผู้ถวายตัวทั้งหลาย’...”
พี่น้องที่รัก ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่เราควรภาวนาให้พระสงฆ์ เพราะพวกท่านคือพระศาสนจักรเช่นเดียวกับเราผู้เป็นฆราวาส บ่อยครั้งที่ฆราวาสอย่างเราๆ เรียกร้องจากพระสงฆ์มากเหลือเกิน แต่เรากลับสวดให้พวกท่านไม่ได้ เราควรเข้าใจว่าพระสงฆ์ก็เป็นมนุษย์ปุถุชนเหมือนกับเรา และพวกท่านต้องการให้เราเข้าใจพวกท่าน พวกท่านต้องการความรัก ความเมตตา และความเอาใจใส่จากเรา เพราะพวกท่านได้อุทิศชีวิตของท่านให้เราแต่ละคน เหมือนกับที่ท่านได้ถวายตัวแด่พระเยซูเจ้าแล้ว องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้ประชากรที่ทรงมอบหมายไว้กับพระสงฆ์ สวดภาวนาให้พระสงฆ์ศักดิ์สิทธิ์ สักวันหนึ่ง เมื่อเราอยู่อีกโลกหนึ่งแล้ว เราจะเข้าใจสิ่งน่าพิศวง ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกระทำมา ด้วยการมอบพระสงฆ์ให้ช่วยเหลือวิญญาณของเราให้รอด

ผู้คนเริ่มลุกจากที่นั่งไปรับศีลมหาสนิท ถึงช่วงเวลายิ่งใหญ่แห่งการพบกันแล้ว องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับฉันว่า
“รอสักนิด เราอยากให้ลูกดูบางอย่าง...”
ฉันเงยหน้าขึ้นมอง เห็นผู้หญิงคนหนึ่งในกลุ่มของเราที่ไปแก้บาปก่อนเข้ามิสซา กำลังรับศีลด้วยปาก พอพระสงฆ์วางแผ่นศีลลงบนลิ้นของเธอนั้น มีแสงสีขาวออกทองแผ่กำจายเข้าสู่ตัวเธอ โอบด้านหลังแล้วแผ่มาที่ไหล่ แล้วก็ที่ศีรษะของเธอ องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า
“วิธีนี้แหละที่ทำให้เราปลื้มใจ ที่ได้โอบกอดวิญญาณหนึ่ง ผู้มารับเราด้วยหัวใจที่ใสสะอาด”
พระสุรเสียงของพระองค์เหมือนคนที่กำลังเบิกบานใจ ฉันตะลึงเมื่อเห็นเพื่อนคนนี้เดินกลับที่ โดยมีแสงรอบตัวเธอ และองค์พระผู้เป็นเจ้าโอบกอดเธออยู่
ฉันฉุกนึกถึงความมหัศจรรย์ที่เราพลาดไปหลายต่อหลายครั้ง เพราะเราเดินไปรับพระเยซูเจ้า ทั้งๆ ที่เรายังมีบาปเบาหรือบาปหนัก เรามักแก้ตัวว่าไม่มีพระสงฆ์ฟังสารภาพบาปในช่วงที่กำหนดไว้ ปัญหากลับไม่ได้อยู่ตรงนั้น หากอยู่ที่เราปล่อยใจให้ตกอยู่ในความชั่วอีกเหมือนเดิม
ผู้หญิงมักเข้าร้านเสริมสวย ส่วนผู้ชายก็ไปตัดผมเสียก่อนไปงานรื่นเริงฉันใด เราก็ควรพยายามมองหาพระสงฆ์ เพื่อขจัดความสกปรกออกจากวิญญาณเราก่อนไปรับศีลฉันนั้น เราไม่ควรบุ่มบ่ามไปรับพระเยซูเจ้า เมื่อจิตใจของเราเต็มไปด้วยความอัปลักษณ์

พอฉันเดินไปรับศีลมหาสนิท พระเยซูเจ้าบอกฉันว่า
“อาหารค่ำมื้อสุดท้าย คือช่วงเวลาที่เราได้ใกล้ชิดลูกของเรามากที่สุด ระหว่างช่วงเวลาแห่งความรักนั้น เราได้ตั้งสิ่งซึ่งมนุษย์มองว่าเป็นการกระทำที่วิกลจริต และทำให้เราเป็นจำเลยรัก เราได้ตั้งศีลมหาสนิท เราอยากอยู่กับลูกต่อไปจวบจนสิ้นยุค เพราะเรารักลูกเกินกว่าจะทนให้ลูกๆ ที่เรารักยิ่งชีวิตนั้น ต้องอยู่อย่างไร้ที่พึ่ง”

แผ่นศีลที่ฉันรับคราวนั้น มีรสชาติต่างไปจากเดิน เหมือนกับเลือดผสมกำยานที่ซาบซึมไปทั่วสรรพางค์ ฉันสัมผัสรู้ถึงความรักที่เปี่ยมล้นจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ฉันเดินกลับไปที่คุกเข่า องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัส
“ฟังสิ...”
ต่อมาสักพัก ฉันเริ่มได้ยินคำภาวนาในใจของผู้หญิง ที่นั่งอยู่แถวหน้าที่เพิ่งไปรับศีลมา สิ่งที่เธอภาวนาในใจอยู่ประมาณว่า
‘พระเจ้าข้า นี่ก็ใกล้สิ้นเดือนแล้ว ลูกยังไม่มีปัญญาจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าส่งรถ กับค่าเล่าเรียนของลูกๆ เลย พระองค์ต้องหาทางช่วยลูกนะ’
‘ได้โปรดเถิด อย่าให้สามีของลูกเมาหัวราน้ำแบบนี้ ลูกชักจะทนไม่ไหวแล้ว ลูกคนสุดท้องก็ต้องเรียนซ้ำชั้นแน่ ถ้าพระองค์ไม่ช่วย เขาต้องสอบอาทิตย์นี้แล้ว...’
‘แล้วก็โปรดอย่าลืมเพื่อนบ้านของเราที่ต้องย้ายออกไปรายนั้นด้วย โปรดให้เธอย้ายออกทันที ลูกทนเธอไม่ได้อีกแล้ว...’
พระอัครสังฆราชกล่าว “ให้เราภาวนา” แล้วบรรดาพระสงฆ์ก็ยืนขึ้นสวดบทภาวนาปิดพิธี พระเยซูเจ้าตรัสอย่างเศร้าสร้อย
“ลูกสังเกตคำภาวนาของเธอไหม ไม่มีช่วงไหนเลยที่เธอบอกว่าเธอรักเรา เธอไม่ขอบคุณเราสักนิด ที่เรามอบพระพรให้เธอ ด้วยการลดความเป็นพระเจ้าของเรา ลงมาสู่ความเป็นมนุษย์ท่น่าสงสารของเธอ เพื่อยกย่องเธอขึ้นมาหาเรา ไม่มีคำพูดแม้สักคำว่า ‘ขอบพระคุณพระองค์พระเจ้าข้า’ นี่เป็นบทร่ำวิงวอนเหมือนกับของลูกๆ แทบทุกคนที่มารับเรา”
“เรายอมตายก็เพราะรัก และเราได้กลับคืนชีพแล้ว เราเฝ้าคอยลูกแต่ละคนเพราะรัก และเรายังอยู่กับลูกก็เพราะรัก... แต่ลูกมิได้รู้สำนึกเลยว่าเราต้องการความรักจากลูก จำไว้เถิดว่าเราเป็นผู้มาวอนขอความรักในวาระที่สูงส่งสำหรับวิญญาณนี้”

พวกท่านรู้หรือไม่ว่า พระองค์ผู้เป็นองค์ความรัก กำลังอ้อนวอนขอความรักจากเรา แล้วเราไม่ได้มอบความรักแด่พระองค์ มิหนำซ้ำ เรายังเลี่ยงที่จะพบองค์ความรัก ผู้พลีชีวิตเป็นเครื่องบูชานิรันดรเพียงเพราะความรัก

ตอนที่ประธานในพิธีกล่าวอวยพร แม่พระตรัส...
“จงตั้งใจให้ดี... ลูกทำเครื่องหมายแบบเก่าแทนที่จะทำสำคัญมหากางเขน จงระลึกไว้ว่า การอวยพรครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่ลูกจะได้รับจากพระสงฆ์ ลูกไม่รู้หรอกว่าลูกจะอยู่หรือจะตาย เมื่อออกจากวัดไปแล้ว ลูกไม่รู้หรอกว่าลูกจะมีโอกาสรับพระพรจากพระสงฆ์องค์อื่นอีกหรือไม่ มือผู้ถวายตัวแด่พระเป็นเจ้าแล้ว กำลังมอบพระพรให้ลูกเดชะพระนามพระตรีเอกภาพ ด้วยเหตุนี้ จงทำสำคัญมหากางเขนด้วยความเคารพ ราวกับเป็นการทำสำคัญมหากางเขนครั้งสุดท้ายในชีวิตของลูก”

คนจำนวนมากมายขาดวัดวันอาทิตย์ด้วยข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เช่น พวกเขามีลูก 2-10 คน เลยมาวัดไม่ได้ แล้วคนเราจัดการกับสิ่งที่เขายึดมั่นกันอย่างไร เขาเอาลูกๆ มาด้วย หรือไม่ก็ผลัดกันเข้ามิสซาคนละเวลา เรามักมีเวลาให้กับการศึกษาหาความรู้ การทำงาน การหาความสำราญ การพักผ่อนเสมอ แต่เราไม่มีเวลาแม้แต่มาร่วมมิสซาในวันอาทิตย์

พระเยซูเจ้าขอให้ฉันอยู่กับพระองค์อีกสัก 2-3 นาที หลังมิสซาเลิก พระองค์ตรัสว่า
“หลังมิสซาจบแล้ว อย่าเพิ่งรีบไป จงอยู่เป็นเพื่อนเราสักครู่หนึ่ง แล้วให้เราได้อยู่กับลูก...”
ฉันเคยได้ยินมาว่าองค์พระผู้เป็นเจ้ายังอยู่กับเราอีก 5-10 นาทีหลังรับศีล ฉันเลยถือโอกาสถามพระองค์เรื่องนี้
“พระเจ้าข้า จริงๆ แล้ว พระองค์อยู่กับพวกเรานานแค่ไหนหลังรับศีลมหาสนิท”
พระองค์ตอบว่า “เราอยู่กับลูกตลอดเวลาที่ลูกต้องการให้เราอยู่นั่นแหละ ถ้าหากลูกพูดคุยกับเราตลอดวัน เรารับฟังลูกเวลาที่ลูกพูดกับเราระหว่างทำงานบ้าน เราอยู่กับลูกตลอดเวลา ลูกนั่นแหละเป็นฝ่ายที่จากเราไปเมื่อเลิกมิสซา หรือเมื่อวันฉลองบังคับสิ้นสุดลง ลูกถือวันของพระเจ้าก็จริง และตอนนี้ก็หมดหน้าที่ของลูกแล้ว ลูกไม่ได้คิดหรอกว่าเราอยากมีส่วนร่วมกับชีวิตครอบครัวของลูก อย่างน้อยก็ในวันนั้น”
“ในบ้านของลูกๆ ลูกมีพื้นที่สำหรับทุกๆ สิ่ง แล้วก็มีห้องสำหรับกิจกรรมแต่ละอย่าง ลูกมีห้องสำหรับนอน สำหรับทำอาหาร สำหรับรับประทานอาหาร และอื่นๆ แล้วตรงไหนหรือที่ลูกเตรียมไว้ให้เรา ที่นั่นไม่ควรเป็นที่ที่มีแต่รูปบูชารูปหนึ่ง ที่วางทิ้งไว้ให้ฝุ่นจับตลอดเวลาเท่านั้น แต่ควรเป็นที่ที่สมาชิกในบ้านร่วมกันขอบพระคุณสำหรับวันๆ นั้น สำหรับพระพรแห่งชีวิต สำหรับวอนขอสิ่งที่เขาต้องการแต่ละวัน สำหรับวอนขอพระพร ขอการปกป้องคุ้มครอง ขอสุขภาพที่ดี อย่างน้อยก็วันละสักห้านาที ลูกมีพื้นที่สำหรับทุกๆ อย่างในบ้านของลูก แต่ลูกไม่มีที่สำหรับเรา”
“มนุษย์กำหนดแผนการของวัน ของสัปดาห์ ของภาคเรียน ของการพักร้อน และอื่นๆ ของตน เขารู้ว่าวันไหนจะพัก วันไหนจะไปดูหนังหรือไปงานรื่นเริง หรือไปเยี่ยมคุณย่า-คุณยาย หรือเยี่ยมลูกหลาน พบเพื่อนฝูง หรือไปหาความสำราญ มีกี่ครอบครัวกันที่อย่างน้อยๆ เดือนละครั้ง คุยกันว่า ‘วันนี้เราควรเป็นฝ่ายไปหาพระเยซูเจ้าในตู้ศีลบ้าง’ แล้วทั้งครอบครัวก็มาเฝ้าศีลเพื่อพูดคุยกับเรา มีสักกี่คนกันที่มานั่งตรงหน้าเรา และสนทนาพูดคุยกับเรา เล่าสารทุกข์สุกดิบตั้งแต่พบกันครั้งก่อนให้เราฟัง เพื่อปรับทุกข์ เพื่อขอสิ่งที่เขาต้องการจากเรา เพื่อให้เรามีส่วนร่วมในเรื่องเหล่านี้ มีสักกี่ครั้งกัน”
“เราล่วงรู้ทุกอย่าง รู้แม้กระทั่งความลับที่ฝังลึกอยู่ในความคิดจิตใจของลูก แต่เราชอบให้ลูกเล่าความเป็นไปในชีวิตให้เราฟัง เราพอใจที่ลูกให้เรามีส่วนร่วมเหมือนกับสมาชิกในครอบครัวของลูกคนหนึ่ง เหมือนเพื่อนสนิทของลูกคนหนึ่ง โอ้มนุษย์ช่างสูญเสียพระหรรษทานไปมากมายกระไรหนอ เมื่อเขาไม่มีพื้นที่ให้เราอยู่ในชีวิตของเขา !”
“เราต้องการช่วยสิ่งสร้างของเราให้รอด เพราะในช่วงที่เปิดประตูสู่สวรรค์นั้น ท่วมล้นไปด้วยความเจ็บปวดทรมาน... ระลึกไว้เถิดว่าไม่มีแม่คนไหนที่เอาเนื้อของนางเองมาเลี้ยงลูกของตนหรอก เราบรรลุถึงความรักระดับสูงที่สุดแล้ว เพื่อถ่ายทอดบุญกุศลองเรามายังลูกทุกคน”
“มิสซาคือตัวเราเองที่ยืดชีวิตของเราออกไป มิสซาเป็นเครื่องบูชาของเราบนไม้กางเขนท่ามกลางพวกลูก ปราศจากบุญกุศลแห่งชีวิตและโลหิตของเราแล้ว ลูกมีอะไรที่จะนำมาถวายเฉพาะพระพักตร์พระบิดาเล่า ไม่มีเลย... มีแต่ความน่าเวทนาและบาป...”
“ลูกสมควรจะมีคุณสมบัติที่ดีและน่าชื่นชมเหนือกว่าเทวดาและอัครเทวดา เพราะว่าเทวดาไม่มีโอกาสได้ชื่นชมยินดีกับการรับเราเป็นอาหารหล่อเลี้ยงวิญญาณอย่างที่ลูกได้รับ พวกเขาดื่มจากพุน้ำได้หยดเดียว แต่ลูกที่มีพระหรรษทานในการรับเรานั้น มีทั้งมหาสมุทรให้ดื่มกิน”

อีกเรื่องที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเอ่ยถึงด้วยความปวดร้าวนั้น เกี่ยวข้องกับคนที่มาพบพระองค์ด้วยความเคยชิน คนที่หมดความเลื่อมใสยำเกรงในการพบพระองค์แต่ละครั้ง ความจำเจเปลี่ยนให้บางคนเย็นเฉย จนเขาไม่มีอะไรใหม่ๆ มาเล่าให้พระเยซูเจ้าฟังเวลาเขารับพระองค์ พระองค์ตรัสด้วยว่า วิญญาณผู้ถวายตัวจำนวนไม่น้อย หมดความร้อนรักพระองค์แล้ว ทำให้กระแสเรียกของเขาเป็นเพียงอาชีพอาชีพหนึ่ง เป็นอาชีพที่ไม่มีอะไรจะให้อีกแล้ว เว้นแต่ในสิ่งที่คนเรียกร้อง แต่เป็นการให้ที่ไร้ความรู้สึก...

แล้วพระองค์เอ่ยถึง ผลที่ควรเกิดจากการที่เรารับศีลมหาสนิทแต่ละครั้ง มีคนที่รับพระองค์ทุกวัน แต่ไม่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตเลย เขาใช้เวลาสวดภาวนานานหลายชั่วโมง เขาสร้างผลงานหลายอย่าง แต่ชีวิตกลับไม่ได้เปลี่ยนสภาพ บุญกุศลที่เราได้รับในมิสซา ควรส่งผลให้เรากลับใจ และมีความรัก ความเมตตาต่อบรรดาพี่น้องของเรา
เราผู้เป็นฆราวาส มีบทบาทสำคัญในพระศาสนจักร เราไม่มีสิทธิ์เงียบเสียง เพราะพระได้ส่งเราออกไปประกาศพระวรสาร ในฐานะที่เราทุกคนได้รับศีลล้างบาปแล้ว เราไม่มีสิทธิ์ซึมซับรับความรู้นี้ไว้คนเดียวโดยไม่แบ่งปันให้ผู้อื่น แล้วปล่อยให้พี่น้องของเราต้องอดตาย ในขณะที่เรามีอาหารเหลือเฟืออยู่ในมือ เราควรไปเยี่ยมเยียนคนเจ็บหนักที่หมดทางเยียวยาแล้ว ช่วยเขาด้วยการสวดสายประคำพระเมตตา และสวดภาวนาให้เขาหลุดพ้นจากกับดักและการประจญล่อลวงของปีศาจ คนใกล้ตายทุกคนล้วนมีความกลัว ขอเพียงเรากุมมือ และพูดคุยกับเขาเกี่ยวกับความรักของพระเยซูเจ้าและแม่พระ เกี่ยวกับความมหัศจรรย์ที่รอคอยเขาอยู่ในสวรรค์ เคียงข้างบรรดาผู้ล่วงลับเพื่อบรรเทาใจเขา
ช่วงเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ในเวลานี้ ทำให้เราไม่อาจนิ่งดูดายได้ เราควรยื่นมือเข้าไปช่วยในส่วนที่พระสงฆ์ไปไม่ถึง แต่สำหรับเรื่องนี้ เราต้องการความกล้าหาญ เราควรรับพระเยซูเจ้า เราควรดำรงชีวิตกับพระเยซูเจ้า เราควรหล่อเลี้ยงตัวเราเองด้วยพระเยซูเจ้าเสียก่อน
องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า จงแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะเพิ่มสิ่งเหล่านี้ให้ (มธ.6:33) พระองค์ตรัสทั้งประโยค หมายถึงการแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าทุกวิถีทาง และเท่าที่ทำได้ แล้วรอรับทุกสิ่งนอกเหนือจากนี้ เพราะพระองค์เป็นผู้เดียว ที่เอาใจใส่ในความต้องการที่เล็กน้อยที่สุดของเรา

ขอขอบพระคุณพี่น้อง ที่ให้โอกาสฉันทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมานี้ได้อย่างลุล่วง ฉันรู้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทำตามคำมั่นสัญญาของพระองค์ ที่ว่า
“มิสซาของลูกจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป”
และขอให้ท่านรักพระองค์ด้วย เวลาที่ท่านรับพระองค์ในศีลมหาสนิท !

ขอพระเป็นเจ้าอวยพรท่าน

แคทาลีน่า รีวาซ
ฆราวาสแพร่ธรรม
Eucharistic Heart Of Jesus

วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พระสันตะปาปาชี้ความรักคือเครื่องหมายของการเป็นคริสตชน























สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16
ประมุขพระศาสนจักรคาทอลิก

ทรงให้ข้อคิด ความรักคือเครื่องหมายของการเป็นคริสตชน
ดังที่นักบุญเปาโลนิยามไว้ในจดหมายถึงชาวโครินธ์
พร้อมกันนี้ ทรงภาวนาเพื่อสันติภาพในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์
ทรงร่วมเป็นทุกข์ไปกับคนที่ตกงาน
และทรงเชิญชวนให้คิดถึงผู้ป่วยโรคเรื้อนทุกคน
ทรงปล่อยนกพิราบ 2 ตัว
เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพให้กับโลก"


วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม 2010
สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16
ทรงเป็นประธานในการนำสัตบุรุษกว่า 20,000 คน
สวดเทวทูตถือสารท่ามกลางสายฝน ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร
โดยใจความสำคัญของสิ่งที่พระสันตะบิดรผู้ศักดิ์สิทธิ์ตรัสแบ่งปัน
พระองค์ทรงกล่าวถึงความรักว่าเป็นสัญลักษณ์ของคริสตศาสนา
และยังเป็นของขวัญล้ำค่าที่พระเจ้ามอบให้กับมนุษย์ทุกคน
นอกจากนี้
พระองค์ยังทรงกล่าวถึงสันติภาพในตะวันออกกลาง,คนตกงาน และคนโรคเรื้อนด้วย

บทอ่านที่สอง
วันอาทิตย์ที่ 4 ในเทศกาลธรรมดา
นักบุญเปาโลเขียนจดหมายถึงชาวโครินธ์
(1 โครินธ์ 13:4-13)
ใจความสำคัญของจดหมายนี้ เป็นการให้ "นิยามรัก"
ที่งดงามแบบสุดๆไปเลย

พระสันตะปาปาจึงแบ่งปันข้อความตอนนี้ว่า

"นักบุญเปาโลแสดงให้เราเห็นถึงแนวทางความรักอันสมบูรณ์แบบ

กล่าวคือ
ความรักต้องเอื้อเฟื้อ ต้องอดทน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่จดจำความผิดของคนอื่น

ยิ่งไปกว่านั้น

ความรักที่เที่ยงแท้ คือ ความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อมนุษย์ทุกคน
ความรักนี้ได้รับการเผยแสดงผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้า
ความรัก คือ ของขวัญประเสริฐสุดที่พระเจ้าทรงมอบแก่เราทุกคน

นอกจากนี้

ความรักต้องไม่ฉุนเฉียว
ไม่จดจำความผิดที่ได้รับ ไม่ยินดีในความชั่ว
แต่ร่วมยินดีในความถูกต้อง
ความรักให้อภัยทุกอย่าง เชื่อทุกอย่าง หวังทุกอย่าง อดทนทุกอย่าง
(1 โครินธ์ 13:4-7)
หากเราทำได้ตามนี้ ที่สุดแล้ว
เราก็จะได้พบกับพระพักตร์ของพระเจ้า
และได้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์"

ในโลกที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้

ความรักจัดเป็นเครื่องหมายของการเป็นคริสตชน

ด้วยเหตุนี้เอง
ในช่วงเริ่มต้นสมณสมัยการเป็นพระสันตะปาปา
พ่อจึงได้ออกสมณสาส์นฉบับแรก
ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก (Deus Caritas Est - พระเจ้าคือความรัก)
และอย่างที่พวกท่านจำกันได้
สมณสาส์นฉบับนี้มีทั้งหมด 2 ตอน
ตอนแรก คือ นิยามของความรัก
และ ตอนที่สอง ความรัก คือ พระเจ้า

ความรัก คือสิ่งสำคัญที่ทำให้พระเจ้าทรงสร้างโลกและมนุษย์

ในเวลาเดียวกัน

ความรัก คือ แนวทางปฏิบัติที่พระเจ้าทรงมีต่อมนุษย์

ดังนั้น
เราต้องตอบสนองความรักนี้
ด้วยการรับใช้ผู้อื่น
รวมไปถึงรักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์ทุกคน"

พระสันตะปาปา ตรัสแบ่งปันอย่างลึกซึ้ง

หลังการสวดเทวทูตถือสารจบลง
พระสันตะปาปาทรงกล่าวเรื่องต่างๆมากมาย
โดยเรื่องสำคัญประกอบไปด้วย
การเชิญชวนให้ระลึกถึงผู้ป่วยโรคเรื้อน
การเรียกร้องสันติภาพในตะวันออกกลาง
และการให้กำลังใจทุกคนที่ตกงาน เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจ

"วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมกราคม
เป็นวันผู้ป่วยโรคเรื้อนสากล
เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้
สิ่งหนึ่งที่พ่อนึกขึ้นมาทันทีก็คือ
นักบุญดาเมี่ยน เด ฟ้อยส์เตอร์
ผู้ซึ่งอุทิศชีวิตให้กับการอภิบาลผู้ป่วยโรคเรื้อน
(พระสันตะปาปาสถาปนา
นักบุญเดเมี่ยน เด ฟ้อยส์เตอร์
ไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2009)

ฉะนั้น พ่อจึงขอให้กำลังใจ
และสัญญาจะภาวนาให้ผู้ป่วยโรคเรื้อน
รวมไปถึงทุกคนที่ทำงานอภิบาลพวกเขาทุกคน"





"และเช่นเดียวกัน
พ่อขอร่วมเป็นหนึ่งเดียวไปกับบรรดาคริสตชนทั่วโลก
ในการส่งกำลังใจและคำภาวนาไปให้กับคริสตชนในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์
สารแห่งสันติภาพผ่านทางการปล่อยนกพิราบ 2 ตัวนี้
คือสิ่งที่พวกเราอยากนำไปมอบให้กับทุกคนในดินแดนตะวันออกกลาง"
พระสันตะปาปา พร้อมกับปล่อยนกพิราบร่วมกับเด็กๆ

"สุดท้ายนี้
พ่อขอร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ที่ตกงาน อันเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ
สถานการณ์เช่นนี้
เรียกร้องความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาร่วมกัน
ทั้งจากรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง
พ่อจะภาวนาเพื่อพวกท่าน
และขอพระเจ้าประทานทางออกให้กับทุกคนโดยเร็วด้วย"

พระสันตะปาปา ตรัสปิดท้าย

ภาพ :
Getty Images,
L'Osservatore Romano,
Reuters,
Daylife,
Catholic World Tour

การติดตามข้อมูล
URL การติดตามข้อมูลสำหรับข้อมูลนี้คือ:
http://catholicworldtour.spaces.live.com/blog/cns!EA91C1C5E2FBFD4F!9328.trak

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สมโภชนักบุญทั้งหลาย



วันอาทิตย์สมโภชนักบุญทั้งหลาย

บทความเทศน์
บาทหลวง สมเกียรติ ตรีนิกร



พี่น้องที่รัก ให้เราทุกคนชื่นชมยินดีในพระเจ้า ให้เราสมโภชนักบุญทั้งหลาย เหตุว่าวันนี้เป็นวันฉลองความหวังอันยิ่งใหญ่ของเรา เพราะว่าเรามีเป้าหมายสำคัญคือพระอาณาจักรสวรรค์ของพระบิดาเจ้าซึ่งเป็นบ้านแท้ของเราที่เราทุกคนใฝ่ฝัน การฉลองนักบุญทั้งหลายนี้เป็นดังเครื่องหมายแสดงความจริงแห่งความเชื่อที่สำคัญ คือ ชีวิตการจาริกบนโลกของเรานี้ไม่ใช่ที่สุด แต่ที่สุดคือเราจะต้องก้าวผ่านจากโลกนี้ ผ่านจากความตายไปสู่ชีวิตนิรันดร และที่สำคัญที่สุด เป็นการผ่านความตายโดยอาศัยความตายของพระเยซูเจ้า เพื่อจะกลับคืนชีพเช่นเดียวกับพระองค์
พี่น้องที่รัก ด้วยความหวังเช่นนี้ ให้เรารำพึงพระวาจาของพระเจ้าโดยผ่านทางจดหมายนักบุญยอห์นฉบับที่หนึ่งที่เราได้ยินวันนี้ว่า “พี่น้องที่รัก ในเวลานี้เราเป็นบุตรของพระเป็นเจ้าแล้ว แต่ภายหน้าเราจะเป็นอย่างไรนั้นยังมิได้ปรากฏแจ้ง เราทราบว่า เมื่อปรากฏแจ้งแล้ว เราก็จะเป็นเหมือนพระองค์ เพราะเราจะเห็นพระองค์ ดังที่พระองค์ทรงเป็นอยู่และทุกคนที่มีความหวังนี้ในพระองค์ย่อมทำตัวให้บริสุทธิ์ ดังที่พระองค์ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์” ที่สำคัญคือ เราจะดำเนินชีวิตบริสุทธิ์หรือดำเนินชีวิตในความหวังนี้ได้อย่างไรกัน พ่อคิดว่าเมื่อเรามีความปรารถนาจะได้รับชีวิตนิรันดรพร้อมกับพระองค์ เราต้องเจริญชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์ หรือพูดง่ายๆ คือ เราต้องเจริญชีวิตตามแบบอย่างและหนทางของพระองค์นั่นเอง
พี่น้องที่รัก พ่อได้เริ่มด้วยตัวบทจดหมายนักบุญยอห์นเพื่อประกาศความจริงว่า ชีวิตของเราคริสตชนนั้นมีความหวังในชีวิตภายหน้าตั้งแต่สมัยแรกเริ่มแล้ว เพราะจดหมายนักบุญยอห์นนี้เขียนในสมัยแรกๆ ของพระศาสนจักร และดูเหมือนกลุ่มคริสตชนนั้นมีความหวังแน่วแน่ในชีวิตนิรันดร แต่การจะได้มาซึ่งชีวิตนิรันดรนั้นย่อมเกี่ยวเนื่องกับการเจริญชีวิตในโลกนี้ และดูเหมือนจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องเจริญชีวิตในความเชื่อนั้นเอง
พี่น้องที่รัก พ่อเชื่อว่าเราต้องมีความหวังในชีวิตนิรันดรดังเช่นท่านนักบุญทั้งหลาย ซึ่งเราแต่ละคนล้วนมีนักบุญองค์อุปถัมภ์ด้วยกันทุกคน ทั้งนี้เพราะเราเชื่อว่าบรรดานักบุญเหล่านี้ที่ได้รับการรับรองจากพระศาสนจักรนั้นได้อยู่กับพระเจ้าในความสุขนิรันดร คำถามสำคัญคือทำไมพระศาสนจักรกล้ารับรอง อันที่จริงเราต้องยอมรับพระศาสนจักรมีอำนาจในการสอนความจริง แต่เราไม่ต้องพูดถึงเรื่องอำนาจหรอก เพราะที่สำคัญพระศาสนจักรใช้ความพยายาม เวลา และทุกสิ่งโดยเฉพาะการประกันด้วยอัศจรรย์ของบรรดานักบุญ ทั้งนี้เพื่อประกาศรับรองความศักดิ์สิทธิ์ของพวกท่าน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เพราะชีวิตของพวกท่านนั้นเป็นประจักษ์พยานว่า ชีวิตของบรรดานักบุญนั้นเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตในความหวังนี้อย่างชัดเจนตั้งแต่เมื่อยังอยู่ในโลกนี้แล้ว
ดังนั้นพี่น้องที่รัก สิ่งที่เราพึงกล่าวถึงในวันนี้ในโอกาสสมโภชนักบุญทั้งหลายคือ เราจะเจริญชีวิตอย่างไรเพื่อจะได้รับชีวิตนิรันดร แน่นอนที่สุด เรามีชีวิตนิรันดรเป็นกรรมสิทธิ์อยู่แล้วอย่างแน่นอนเพราะพระคริสตเจ้าเสด็จมา เพื่อจะทรงมอบให้กับเราโดยการรับทรมาน สิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพ การเสด็จมาของพระองค์เป็นการทำให้ชีวิตของเรามีความหวัง และให้ชีวิตนิรันดรนี้กับเราโดยการที่เราเข้ามามีส่วนร่วมในรหัสธรรมปัสกาของพระองค์ คือการรับศีลล้างบาป เพราะในศีลล้างบาปเป็นประตูแห่งการรับพระหรรษทานทั้งหลาย ซึ่งก็คือคือพระหรรษทานแห่งความรอดพ้นนั้นเอง แต่ประเด็นต่อมาที่สำคัญคือ นอกจากศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่เรามีแล้ว เราพึงเจริญชีวิตอย่างไรเล่า?
พี่น้องที่รัก พ่อขอตอบว่า เราต้องเจริญชีวิตติดตามรอยพระบาทของพระองค์ เจริญชีวิตตามพระวาจาและพระกิจการของพระองค์ กล่าวง่ายๆ คือ เราจะต้องดำเนินชีวิตโดย
• ทำสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงเคยกระทำเป็นการมอบพระแบบฉบับแห่งชีวิต และ
• ทำสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงสอนอย่างจริงจัง
พี่น้องที่รัก พ่อคงต้องนำพี่น้องให้รื้อฟื้นสั้นว่า สิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำคืออะไร? คำตอบคือ ทุกกิจการของพระองค์ที่เราพบในพระวรสาร ซึ่งแน่นอนเราได้พบกิจการมากมายเช่น ทรงรักคนยากจน ทรงสงสาร ทรงเมตตา ทรงให้อภัย ทรงรักษาคนทุพลภาพ ทรงสอนด้วยความรัก และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ทรงมอบชีวิตของพระองค์เพื่อเป็นค่าไถ่เราทุกคน
พี่น้องที่รัก สิ่งที่น่าจะต้องรำพึงเป็นพิเศษในวันนี้คือ อะไรคือสิ่งที่พระเยซูเจ้าสอนเพื่อเราดำเนินชีวิต? คำตอบที่สำคัญย่อมต้องมาจากสิ่งที่พระองค์ทรงสอนด้วยแบบอย่างชีวิตของพระองค์ และพระองค์ทรงสอนมากมายเช่นกัน แต่ว่าพ่อขอให้พี่น้องพิจารณาคำสอนแรกสุดที่สำคัญในพระวรสารนักบุญมัทธิวที่เราได้ฟังในวันนี้ ซึ่งพ่อถือว่านี่เป็นคำสอนแรกที่สำคัญอย่างมาก เพราะมัทธิวบันทึกอย่างระมัดระวังมีรายละเอียดดังนี้ คือ บนภูเขาอันสงบเงียบแต่เต็มด้วยผู้คนที่กำลังติดตามพระองค์ที่กาลิลี ท่ามกลางประชาชนมากมาย และบรรดาศิษย์เข้ามาห้อมล้อมพระองค์ พระองค์ทรงประทับนั่ง ทรงเผยพระโอษฐ์ ทรงสอน และคำสอนแรกสุดที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์คือ คำว่า “Makarioi” ภาษากรีกที่มัทธิวบันทึกในพระวรสารซึ่งแปลว่า “ความสุขแท้”
พี่น้องที่รัก นี่คือถ้อยคำแรกที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์ เมื่อทรงสอนพระโอวาทบนภูเขา ซึ่งแต่เดิมเราเรียกว่า “บุญลาภ” หรือ “หนทางแห่งความสุข” พ่อเชื่อว่านี่เป็นคำสอนแห่งหนทางที่สำคัญที่สุด ดังนั้นเพื่อเราจะเจริญชีวิตตามพระวาจาที่พระองค์ทรงสอน พ่อขอเสนอการตีความ การรำพึง เฉพาะหนทางแห่งความสุขแท้นี้เพียงข้อเดียวจากที่พระองค์ทรงสอนในพระวรสารนักบุญมัทธิวในวันนี้ ทั้งนี้พ่อเชื่อว่านี่เป็นคำสอนสำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องติดตาม และต้องมีอยู่เป็นรากฐานลึก และรากฐานแท้ของหัวใจและชีวิต
พี่น้องที่รัก คำสอนแรกสุดนี้คือ “ผู้ใดมีใจยากจนก็เป็นสุขเพราะเมืองสวรรค์เป็นของเขา” ซึ่งพ่อจะขอแปลใหม่ให้ตรงคำภาษากรีกต้นฉบับคือ “ความสุขแท้ แก่ผู้มีใจยากจน เพราะพระอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” ที่พ่อต้องแปลใหม่เพราะว่าในต้นฉบับนั้นคำแรกที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเยซูเจ้าคือ “Makarioi” แปลว่า “ความสุขแท้” ดังนั้นสิ่งที่พระองค์ทรงประกาศคือ “ความสุขแท้”
พี่น้องที่รัก ให้เรามุ่งหาความสุขแท้จริงโดยดำเนินชีวิตตามที่พระองค์สอนคือ “การมีใจยากจน” ซึ่งในพระวรสารนี้พ่อขออธิบายดังนี้ว่า คำว่า “ยากจน” ในที่นี้คือสภาวะของจิตใจ ซึ่งแน่นอน ในภาษากรีกต้นฉบับนั้นเราพบคำว่ายากจนนี้ใช้คำว่า “Ptochos” ซึ่งหมายถึง สภาวะที่ยากจนทางสภาพความเป็นอยู่อย่างถึงที่สุด ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีสภาวะต้องการความช่วยเหลือสนับสนุน จะไม่สามารถยังชีพอยู่ได้โดยขาดความช่วยเหลือ หรือการหยิบยื่นของคนอื่น ต้องอาศัยทานและการให้เท่านั้นจึงจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ ถ้าขาดความช่วยเหลือดังกล่าวเขาไม่สามารถยังชีพหรือมีชีวิตได้โดยลำพังตนเองเลย
พี่น้องที่รัก คำสอนของพระเยซูเจ้าประการแรกเพื่อความสุขแท้ พระองค์ทรงประกาศถึงสภาพทางจิตใจแบบ Ptochos หมายความว่า ความสุขแท้เป็นของคนที่มีสภาวะจิตใจเชื่อมั่นในพระเจ้าว่าพระองค์สำคัญที่สุด เป็นสภาวะที่ประกาศว่า เขาเป็นอยู่ได้ มีชีวิตได้ก็เพราะพระเจ้า เป็นสภาพจิตใจที่มีความเชื่อมั่นในพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ และเป็นการประกาศความเชื่ออันยิ่งใหญ่ว่า เขาขึ้นกับพระเจ้าและไม่สามารถขาดพระองค์ได้เลย การขาดพระเจ้า คือการขาดความสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ดังนั้นคนที่มีใจยากจนแบบนี้คือ คนที่มีความเชื่อมั่นในพระเจ้าผู้เดียวว่าทรงเป็นบ่อเกิดของชีวิต เขาผู้มีใจยากจนก็คือ ผู้ที่รู้และยอมรับภายในจิตใจว่าถ้าขาดพระเจ้าเขาไม่อาจมีชีวิต
พี่น้องที่รัก จึงสรุปได้ว่า คำสอนแรกสุดของพระเยซูเจ้าคือ “ความเชื่อ” ผู้มีใจยากจนดังกล่าวจะได้รับพระอาณาจักรสวรรค์ นั่นหมายถึงอำนาจปกครองของพระเจ้า จิตใจของเขานั้นยอมรับถึงการที่เขาขึ้นอยู่กับพระเจ้าโดยถาวร และพระเจ้าเป็นผู้ให้ชีวิต จิตใจของเขาผูกพันกับพระเจ้า และพระเจ้าทรงครอบครองจิตใจของเขานั้นเอง
พี่น้องที่รัก นี่คือหนทางดำเนินชีวิตที่พระเยซูเจ้าสอนเพื่อเราจะสามารถรับพระอาณาจักรสวรรค์ของพระองค์ คือ “เราต้องมีความเชื่ออย่างมั่นคง เด็ดเดี่ยว และยอมรับความจริงแบบผู้มีจิตใจที่มีรากลึกอย่างแท้จริงว่า พระเจ้าสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของเรา” ซึ่งบรรดานักบุญทั้งหลายได้เจริญชีวิตเช่นนั้น และบรรดามรณสักขีทั้งหลายก็ยอมตายได้เพราะพวกท่านเชื่อว่าเสียชีวิตได้แต่ขาดความสัมพันธ์กับพระเจ้าไม่ได้เด็ดขาดนั้นเอง
พี่น้องที่รัก ในโอกาสที่เราฉลองนักบุญทั้งหลายของพระเจ้าให้เรารำพึงหนทางที่พระองค์ทรงสอน และบรรดานักบุญได้เจริญรอยตาม รวมทั้งพวกเราด้วยพึงเจริญชีวิตเพื่อพบความสุขแท้จริง ด้วยพลังแห่งความเชื่อของเรา พ่อจึงมีคำถามส่งท้ายดังนี้ว่า
• เรามีจิตใจ หมายถึง “สภาวะของจิตใจจริงที่อยู่ภายใน เป็นธรรมชาติของจิตใจแท้ๆ หรือธาตุแท้ของจิตใจของเรานั้น” มีความยากจนเพียงใด? หมายความว่า “เรามีความเชื่อเพียงใด” คือเชื่อว่า พระเจ้ามีความสำคัญสำหรับเราเป็นอันดับแรกเพื่อมีชีวิตหรือไม่?
• เราสามารถขาดพระองค์ได้หรือไม่ หมายความว่า เราแน่ใจว่า ชีวิตประจำวัน หน้าที่การงานที่เราทำอยู่นั้น จำเป็นที่จะต้องมีพระเจ้าประทับอยู่ด้วยเสมอ? หรือเรามีพระองค์เพียงเฉพาะบางเวลา หรือเฉพาะในภาวะจำเป็นของพระเจ้าเท่านั้น??
• เราแต่ละคนเป็น “บุคคลแห่งความเชื่อ” ต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์หรือเปล่า?
• เรามีความเชื่อในพระอาณาจักรสวรรค์เพียงใด?? สวรรค์ “พระอาณาจักรของพระเจ้า” คือการที่พระเจ้าทรงครอบครอง ประทับอยู่กับประชากรของพระองค์ และการดำเนินชีวิตของเราทำให้ผู้อื่นเชื่อในพระอาณาจักรสวรรค์เพียงใด??

นักบุญเยโนเวฟา องค์อุปถัมภ์ของกรุงปารีส

ประวัตินักบุญเยโนเวฟา
องค์อุปถัมภ์ของกรุงปารีส

ซิสเตอร์ซีมอนา สมศรี บุญอรุณรักษา
คณะคาร์แมลไลท์ ประเทศฝรั่งเศส
ผู้แปลและเรียบเรียง





นักบุญเยโนเวฟา เกิดประมาณ ค.ศ.423 ที่เมืองนองแตร์ (Nanterre) เมืองนี้อยู่ติดกับกรุงปารีส (Paris) และแซงต์แชร์แมน (Saint-Germain)
ท่านเกิดมาในครอบครัวคริสตัง บิดาของท่านชื่อ แซแวร์ (Se vere) มารดาชื่อ เยรองซ์ (Geronce) บิดามารดาของท่านได้อบรมสั่งสอน ความเชื่อ ความศรัทธาให้แก่ท่าน เมื่อหัดพูด คำแรกที่ท่านเปล่งออกมา ล้วนแต่เป็นคำทางศาสนาทั้งสิ้น เมื่อเริ่มหัดเดิน ท่านก็ได้ถูกพาไปยังวัดแห่งเมืองนองแตร์ ช่วงสมัยที่ท่านนักบุญได้ถือกำเนิดมานั้น เป็นช่วงที่ประเทศฝรั่งเศสมีสิ่งชั่วช้ามากมาย ที่พวกคนต่างศาสนาได้เผยแผ่ ขณะนั้น พระศาสนจักรในประเทศอังกฤษ หรือสหราชอาณาจักร เริ่มสูญเสียความเชื่อ ทางสันตะสำนักโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเซเลสติน เห็นสมควรให้ส่งพระสังฆราช 2 องค์ จากประเทศโกล (ชื่อเดิมของฝรั่งเศส) ไปยังสหราชอาณาจักร เพื่อรักษาความเชื่อของบรรดาคริสตชน


พระสังฆราชทั้งสององค์นั้น คือท่านนักบุญลูป์ (St.Loup) และนักบุญแชร์แมน (St.Germain) ท่านทั้งสองได้ออกเดินทางไปยังสหราชอาณาจักร ในระหว่างการเดินทาง ท่านได้เดินทางผ่านเมืองนองแตร์ซึ่งเป็นทางผ่าน เมื่อท่านทั้งสองเดินทางผ่านมาถึงเมืองนองแตร์ ฝูงชนได้มาพบกับท่าน นักบุญเยโนเวฟาขณะนั้นมีอายุเพียง 7 ขวบ ก็ได้อยู่ร่วมในกลุ่มฝูงชนเหล่านั้น พร้อมบิดามารดาของท่าน ท่านนักบุญแชร์แมนผู้มีพระพรพิเศษ ได้ขอให้นำเด็กน้อยเยโนเวฟามาข้างหน้าท่าน จากนั้น ท่านได้กล่าวต่อหน้าฝูงชนที่ชุมนุมอยู่นั้นว่า พระเป็นเจ้าได้ทรงเลือกเยโนเวฟาให้เป็นเจ้าสาวของพระองค์ ท่านได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะที่เยโนเวฟาเกิด บรรดาทูตสวรรค์ต่างขับร้องด้วยความชื่นชมยินดี จากนั้น ท่านได้แสดงความยินดีกับบิดามารดาของเยโนเวฟาที่มีลูกสาวเช่นนี้ ท่านได้เสริมอีกว่า คุณงามความดีของเยโนเวฟา จะทำให้บรรดาคนบาปและผู้ที่ประพฤติตัวเหลวไหลกลับใจ
จากนั้น ท่านนักบุญพระสังฆราชแชร์แมน ได้กล่าวกับเยโนเวฟาว่า

“ลูกทีรัก จงกล้าหาญ จงเต็มไปด้วยพละกำลัง และพิสูจน์ให้เห็นจากสิ่งที่ใจของลูกได้เชื่อ และจากคำสัญญาที่ลูกได้เปล่งจากปาก”
จากนั้น ท่านนักบุญพระสังฆราชได้นำเยโนเวฟาไปยังวัด และได้รับคำปฏิญาณของเยโนเวฟา หลังจากนั้น พระสังฆราชทั้งสองก็ได้ออกเดินทางต่อไปยังสหราชอาณาจักร เพื่อเทศน์สอนบรรดาคริสตชน



ส่วนเยโนเวฟาระลึกอยู่เสมอถึงคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ต่อพระเป็นเจ้า เธอได้ยินเสียงของพระที่กล่าวกับเธอในใจ

“เป็นบุญของผู้ที่สาละวนในพระเป็นเจ้า และไม่ใส่ใจกับของของโลกนี้ เราคือสันติสุข ความชื่นชมยินดี และชีวิตของเจ้า จงดำเนินชีวิตอยู่ในเรา และเจ้าจะพบกับสันติสุข จงปล่อยวางจากทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามา และแสวงหาเพียงแต่สิ่งที่เป็นนิรันดรภาพ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจัง จงละทิ้งทุกสิ่งที่เป็นของของโลกนี้ และสาละวนแต่ในพระผู้สร้าง และจงสัตย์ซื่อต่อพระองค์ เพื่อว่าจะได้บุญลาภที่แท้จริง”

พระสวามีเจ้ายังได้ตรัสกับท่านนักบุญอีกว่า

“เจ้าจะต้องตายต่อความเสน่หาตามประสามนุษย์ จนกระทั่งไม่มีความปรารถนาที่จะมีอะไรเลย เมื่อมนุษย์ห่างไกลจากความปลอบโยนของโลกมากเท่าไร เขาก็เข้าใกล้พระเป็นเจ้ามากเท่านั้น ถ้าเจ้ารู้จักปฏิเสธความรักทั้งครบต่อสิ่งสร้าง เราจะหลั่งพระพรมายังเจ้าอย่างเปี่ยมล้น ถ้าเจ้าสาละวนอยู่กับสิ่งสร้าง เจ้าจะสูญเสียพระผู้สร้าง”

เยโนเวฟารำพึงถึงพระวาจานี้ทั้งกลางวันและกลางคืน เธอมีความชื่นชมยินดีที่จะทำให้พระสัญญานี้เป็นจริง และได้ปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระองค์มานานหลายปีแล้ว โดยการฝึกปฏิบัติความดีแม้ในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน



วันหนึ่งเป็นวันฉลองใหญ่ เยรองซ์ มารดาของเยโนเวฟา ต้องการไปร่วมฉลองที่วัด และบังคับให้เยโนเวฟาอยู่เฝ้าบ้าน เยโนเวฟารู้สึกเสียใจอย่างมาก เพราะเธอปรารถนาที่จะไปฟังพระวาจาของพระเจ้า และร่วมบูชามิสซา เธอจึงได้ขอร้องต่อมารดาของเธอด้วยน้ำตานองหน้าที่จะไปที่วัด แต่มารดาของเธอหาได้ฟังไม่ เยโนเวฟาจึงบอกกับมารดาถึงคำมั่นสัญญาที่เธอได้ปฏิญาณไว้ว่าจะเป็นเจ้าสาวของพระคริสต์ และรับใช้พระองค์แต่เพียงผู้เดียว ส่วนมารดาหาได้ฟังไม่ เธอโมโหเป็นการใหญ่ และได้ตบตีเยโนเวฟา และออกเดินทางไปวัด แต่ในระหว่างที่กำลังเดินทางอยู่ในทุ่งนา เยรองซ์ได้กลายเป็นคนตาบอด และเธอได้อยู่ในความมืดเช่นนี้นานถึง 2 ปี วันหนึ่ง นางระลึกถึงบทเทศน์ของนักบุญแชร์แมน นางจึงเรียกเยโนเวฟา และกล่าวกับเธอว่า

“ลูกที่รัก จงไปตักน้ำในบ่อน้ำข้างๆ บ้าน และจงทำสำคัญมหากางเขนที่น้ำนั้น และนำน้ำนั้นมาให้แม่ล้างตาเถิด แม่เชื่อว่าอาศัยน้ำนั้น แม่จะกลับมองเห็นอีกครั้งหนึ่ง”
เยโนเวฟาได้ทำตามนั้นทุกประการ และมารดาของเธอก็กลับมองเห็นอีกครั้งหนึ่ง



ต่อมา เมื่อเยโนเวฟามีอายุได้ 51 ปี ความตั้งใจแน่วแน่ที่จะถวายตัวทั้งครบแด่พระเป็นเจ้านั้นมั่นคงอยู่เสมอ ดังนั้น เยโนเวฟาจึงไปพบกับพระคุณเจ้าจูลิคุส พระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลชาร์ตร เพื่ออ้อนวอนขอให้รับข้อปฏิญาณของเธอ เธอได้เดินทางไปพร้อมกับหญิงสาวอีก 2 คน ซึ่งมีอายุแก่กว่าเธอ ทั้งสองก็มีความปรารถนาที่จะถวายตัวแด่พระเป็นเจ้าเช่นเดียวกันกับเยโนเวฟา ด้วยความสุภาพของเธอ ในขณะที่เข้าขบวนแห่อยู่นั้น เยโนเวฟาได้เดินอยู่รั้งท้าย พระสังฆราชผู้ได้รับการดลใจจากแสงสว่างของพระเป็นเจ้า ได้กล่าวกับเธอว่า

“ขอให้ผู้ที่อยู่ข้างท้ายนั้น จงมาอยู่ข้างหน้า เพราะพระเป็นเจ้าได้ทรงฟังคำภาวนาแล้ว”
ด้วยเหตุฉะนี้เอง เยโนเวฟาจึงเป็นหญิงพรหมจารีคนแรกของประเทศฝรั่งเศสที่ได้กล่าวข้อปฏิญาณ เธอได้สัญญาที่จะถือความบริสุทธิ์ตลอดชีวิต และประเทศฝรั่งเศสถือว่าท่านเป็นนักบุญพรหมจารีองค์แรกของประเทศ



หลังจากที่ท่านได้ถวายตัวไม่นานนัก ท่านก็ได้สูญเสียบิดามารดา เธอเชื่อว่าการทดลองที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียผู้ให้กำเนิดนั้น เป็นเพราะพระเป็นเจ้าทรงต้องการให้เธอกลายเป็นเจ้าสาวที่คู่ควรของพระองค์ จากเหตุการณ์นี้เอง ทำให้เธอก้าวไปสู่หนทางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น หลังจากที่สูญเสียบิดามารดาแล้ว เธอได้ย้ายออกจากเมืองนองแตร์ และไปอาศัยอยู่กับแม่ทูนหัวที่กรุงปารีส พระเป็นเจ้าได้ทรงทดลองเธอครั้งหนึ่ง โดยได้ทำให้เธอล้มป่วยลง ตลอดเวลา 3 วัน เธอมีอาการคล้ายคนที่ตายไปแล้ว ในช่วงเวลาเหล่านี้เอง จิตวิญญาณของเธอได้ถูกนำไปยังสรวงสวรรค์ นอกนั้น พระเป็นเจ้าทรงบันดาลให้เธอได้เห็นภาพของพระเยซูเจ้าที่เนินเขากัลวารีโอ เธอได้เข้าไปสัมผัสกับรหัสธรรมล้ำลึกของพระมหาทรมาน และการไถ่บาปของมนุษยชาติ หลังจากหายป่วยแล้ว เธอได้รำพึงเรื่องนี้อยู่เสมอ และหลั่งน้ำตาอยู่บ่อยครั้ง


ค.ศ.446 นักบุญแชร์แมนต้องเดินทางไปสหราชอาณาจักรอีกเป็นครั้งที่ 2 ท่านได้เดินทางผ่านกรุงปารีส และท่านได้ไปพำนักอยู่ที่สำนักพระสังฆราชแห่งกรุงปารีส ท่านได้พูดถึงเยโนเวฟา ถึงความกล้าหาญ อุทิศถวายตัวแด่พระเป็นเจ้าตั้งแต่อายุยังเยาว์วัย
ต่อมา พระเจ้าอัตติลา กษัตริย์ของพวกฮั่น (หัวหน้าเผ่าเอเชียที่บุกไปถึงยุโรป) ได้ยกทัพเข้ายึดกรุงปารีส เยโนเวฟาผู้ได้รับแรงบันดาลใจจากพระจิตเจ้า ได้เรียกบรรดาสตรีทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในกรุงปารีส มารวมตัวกันสวดภาวนาในวัดน้อยของอาสนวิหาร วัดน้อยนี้เองได้ใช้สำหรับโปรดศีลล้างบาป พวกเธอได้ตื่นเฝ้า ภาวนาอ้อนวอนของพระผู้เป็นเจ้า ขอพระองค์ได้ทรงพระเมตตามายังนครปารีส
เยโนเวฟายังได้กล่าวแก่บรรดาบุรุษทั้งหลายที่ต้องการจะละทิ้งกรุงปารีส เนื่องจากความหวาดกลัวต่อกษัตริย์อัตติลา เธอได้ให้ความมั่นใจแก่พวกเขาว่า อัตติลาจะไม่สามารถทำอะไรกรุงปารีสได้ เพราะพระผู้เป็นเจ้าจะทรงยื่นพระหัตถ์ของพระองค์ออกคุ้มครองนครนี้ เพียงแต่ขออย่าได้สูญเสียความวางใจในพระองค์
บางคนได้ฟังและเห็นด้วยกับเยโนเวฟา แต่คนส่วนมากในพวกเขามีความเห็นตรงกันข้ามกับสิ่งที่เธอได้ขอร้อง พระเป็นเจ้าทรงฟังเสียงของข้ารับใช้ต่ำต้อยของพระองค์ ช่วงเวลานั้นเอง ผู้แทนสังฆราชแห่งออแซร์ ได้เดินทางมาที่กรุงปารีส เยโนเวฟาได้แจ้งเรื่องนี้แก่ท่าน เมื่อได้รับทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว ผู้แทนสังฆราชได้กล่าวแก่คนทั้งหลายว่า
“ท่านกำลังทำอะไรกันอยู่เล่า ท่านต้องการที่จะทำลายผู้ที่พระเป็นเจ้าได้ทรงเลือกสรรตั้งแต่ในครรภ์มารดาหรือ ถูกต้อง พระเป็นเจ้าได้ทรงเลือกเยโนเวฟาเป็นพิเศษ เราได้รับรู้เรื่องนี้จากท่านสังฆราชแชร์แมน”
หลังจากที่ได้รับการยืนยันจากผู้แทนสังฆราชแห่งออแซร์ ในนามของพระสังฆราชเอง บรรดาฝูงชนได้เปลี่ยนมาชื่นชมยินดีเยโนเวฟา ในขณะนั้น กษัตริย์อัตติลาผู้พร้อมที่จะทำลายนครปารีสให้ราบไป เกิดเปลี่ยนใจกะทันหันที่จะเดินทางไปยังที่อื่น สันติสุขจึงได้กลับคืนสู่กรุงปารีสอีกครั้งหนึ่ง



ต่อมาที่กรุงปารีสเกิดกันดารอาหาร และในสมัยนั้น กรุงปารีสยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพวกฝรั่งเศส เพราะในสมัยนั้น ฝรั่งเศสยังไม่ได้เป็นประเทศเดียวแบบทุกวันนี้ แต่ได้แบ่งออกเป็นแคว้นๆ ดินแดนทางตอนเหนือของกรุงปารีสไม่ได้ประสบปัญหาเรื่องความกันดาร แต่เป็นเรื่องยากที่จะเดินทางไปทางเหนือเพื่อแสวงหาอาหาร เนื่องจากในสมัยนั้น แม่น้ำแซนที่เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านกรุงปารีส ไม่ได้สงบเหมือนอย่างสมัยนี้ กระแสน้ำมักไหลเชี่ยว และเกิดอันตรายแก่ผู้ที่เดินทางอยู่เสมอ
วันหนึ่ง เยโนเวฟาได้ลงเรือ และได้ล่องไปตามลำน้ำพร้อมกับบรรดาผู้แจวเรือ เมื่อมาถึงบริเวณแห่งหนึ่งซึ่งเป็นบริเวณที่เรือที่ผ่านไปมามักจะจมลง และไม่มีเรือลำไหนสามารถผ่านเส้นทางนี้ไปได้ แต่เยโนเวฟากลับสั่งให้พวกคนแจวเรือเหล่านั้น ตัดต้นไม้ต้นหนึ่งที่อยู่ริมฝั่งในบริเวณนั้นเสีย และให้ถอนรากต้นไม้นั้นด้วย ขณะที่พวกได้ทำการนี้ เยโนเวฟาได้สวดภาวนา หลังจากที่พวกเขาได้ทำตามที่เธอได้บอกแล้ว กระแสน้ำในแม่น้ำแซนที่เคยเชี่ยวกราก กลับสงบลงอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ทำให้สามารถเดินทางต่อไปได้ เมื่อเดินทางมาถึงที่หมายแล้ว เธอได้ขอบริจาคเสบียงอาหารจากชาวบ้านที่เมืองโอบ เพื่อจะนำไปช่วยชีวิตชาวปารีส เธอรวบรวมอาหารที่ได้รับบริจาคถึง 11 ลำเรือ จากนั้นเธอจึงเดินทางกลับกรุงปารีส แต่เมื่อเดินทางมาได้ครึ่งทาง ได้เกิดมีพายุใหญ่น่ากลัวยิ่งนัก ทุกคนต่างตกใจกลัว มีแต่เยโนเวฟาผู้เดียวเท่านั้นที่ไม่ได้หวั่นวิตกอะไร แต่ตรงกันข้าม ท่านได้อธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงเคยปราบลมพายุให้สงบมาแล้ว เมื่อครั้งที่พระองค์ยังคงเจริญพระชนม์อยู่บนโลกนี้ คำภาวนาของเธอได้บังเกิดผลอย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ลมพายุต่างสงบลงอย่างราบคาบ เธอและผู้ติดตามจึงเดินทางต่อไปถึงปารีส เธอได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชาวเมือง เธอไม่รอช้าที่จะรีบแจกจ่ายอาหารแก่ผู้ที่หิวโหย เธอได้แจกข้าวสาลีแก่พวกเขา และบ่อยทีเดียวที่เธอได้ลงมือทำขนมปังสำหรับบรรดาผู้ที่น่าสงสารเหล่านั้นด้วยตัวเธอเอง นับเป็นครั้งที่ 2 ที่เธอได้กอบกู้ชาวเมืองปารีสให้รอดพ้นจากภยันตราย



บรรดาสตรีใจศรัทธาและแม่ม่ายทั้งหลาย ต่างอ้อนวอนเธอให้ดูแลพวกเขาเช่นมารดา เพื่อตอบสนองบรรดาสตรีเหล่านี้ เธอจึงตัดสินใจตั้งอารามแห่งหนึ่งขึ้น อารามแห่งนี้มีชื่อ อารามของพวกภคินีออดรีเอท ตามชื่อของนักบุญออด ซึ่งเป็นนักบุญที่มีชื่อเสียงที่สุดของอารามแห่งนี้

ต่อมา เยโนเวฟามีใจเลื่อมใสต่อท่านนักบุญเดอนิส มรณสักขีแห่งกรุงปารีส ค.ศ.272 ซึ่งเป็นสมัยที่พระศาสนาคาทอลิกเพิ่งเข้ามาเผยแผ่ในประเทศฝรั่งเศส เยโนเวฟาปรารถนาจะสร้างวัดหลังหนึ่งเพื่อเป็นเกียรติให้นักบุญเดอนิส ในสถานที่ที่เป็นที่เก็บพระธาตุของท่านนักบุญเดอนิส แต่เธอเองไม่มีทรัพย์สินใด ๆ เลยที่จะทำการนี้ เธอไปพบบรรดาพระสงฆ์ เธอได้กล่าวกับบรรดาบพระสงฆ์เหล่านั้นว่า

“คุณพ่อที่เคารพ ขอให้คุณพ่อองค์หนึ่งไปที่สะพานในเมือง และให้นำสิ่งที่ได้ยินที่นั่น มาบอกแก่ข้าพเจ้า”
พระสงฆ์เหล่านั้นเชื่อว่าเยโนเวฟาเป็นดังประกาศกของพระเป็นเจ้า คุณพ่อองค์หนึ่งได้ไปที่สะพานในเมืองตามที่เธอได้บอกไว้ เมื่อไปถึงที่นั่น ก็ได้พบกับคนเลี้ยงโค 2 คน กำลังสนทนากัน คนแรกกล่าวกับคนที่สองว่า

“เมื่อเช้านี้ ข้าฯ ได้ไปตามหาวัวตัวหนึ่งของข้าฯ ข้าฯ ได้พบแหล่งที่เต็มไปด้วยปูนสำหรับก่อสร้าง มันมากมายจริง และก็อยู่ไม่ไกลจากที่นี่นัก”

คนเลี้ยงวัวคนที่สองกล่าวตอบว่า

“ส่วนตัวข้าฯ ข้าฯ เองก็ได้ไปพบใกล้ๆ ที่นี่เอง ตรงทางเข้าป่า ข้าฯ ได้พบปูนดังที่เจ้ากล่าว ใต้รากต้นไม้ต้นที่เพิ่งล้มลง”

พวกพระสงฆ์เหล่านั้นต่างขอบพระคุณพระเป็นเจ้าในสิ่งที่ได้ยินชายสองคนสนทนากัน และรีบนำเรื่องนี้กลับไปเล่าให้เยโนเวฟาฟังทันที เยโนเวฟาไม่รอช้า เธอได้รวบรวมชาวบ้านเพื่อลงมือสร้างวัดดังกล่าว นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระเป็นเจ้าได้ทรงทำอัศจรรย์แก่ประชากรของพระองค์ผ่านทางเยโนเวฟา

นอกจากนั้นยังมีอัศจรรย์อื่นอีก เช่น ในระหว่างก่อสร้าง วันหนึ่ง อากาศเกิดร้อนอย่างประหลาด บรรดาคนงานก่อสร้างต่างหมดแรง และเหล้าองุ่นที่จะช่วยชูกำลังของพวกเขาก็ไม่เหลือเลย เมื่อเยโนเวฟาทราบเรื่องนี้ เธอไม่รอช้า คุกเข่าลงสวดภาวนาอ้อนวอนขอพระเป็นเจ้าได้ทรงโปรดช่วยเหลือพวกเขา เมื่อเธอรู้สึกว่าคำภาวนาของเธอบังเกิดผล เธอจึงลุกขึ้น นำไหใบหนึ่งที่ไม่มีเหล้าเหลือติดอยู่เลย เธอได้ทำเครื่องหมายสำคัญมหากางเขนเหนือไหนั้น ทันใดนั้นเอง ไหกลับเต็มไปด้วยเหล้าองุ่น และตลอดเวลาการก่อสร้าง ได้มีอัศจรรย์เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งการก่อสร้างได้สำเร็จลง

ตลอดเวลาในชีวิตของเยโนเวฟา เธอมักจะสวดภาวนาอยู่เสมอๆ บ่อยครั้งเธอได้ตื่นเฝ้าตลอดคืนวันเสาร์จนถึงรุ่งเช้าวันอาทิตย์ ตามแบบอย่างของบรรดาคริสตชนรุ่นแรกๆ เธอได้เป็นแบบอย่างแก่บรรดาสตรีที่ได้อุทิศถวายตัวถือพรหมจรรย์ ที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในอารามที่เธอได้ตั้งขึ้น ด้วยชีวิตแห่งการสวดภาวนาอยู่เสมอ
นอกนั้นเธอยังได้ทำอัศจรรย์มากมาย รักษาคนเจ็บป่วยให้หาย เธอได้สวดภาวนาเป็นพิเศษเพื่อให้กษัตริย์โคลวิสกลับใจ คำภาวนาของเธอและของพระราชินีนักบุญโกลทิลดา และพระสังฆราชนักบุญเรมี ซึ่งได้มีพระประสงค์เดียวกันนั้นก็ได้บังเกิดผล ที่สุด ค.ศ.498 กษัตริย์โคลวิสได้กลับใจ และได้รับศีลล้างบาปจากท่านนักบุญเรมี พระสังฆราชแห่งแรงม์ เรายังได้ทราบอีกว่า หลังจากที่ท่านนักบุญแชร์แมนได้มรณภาพแล้ว เยโนเวฟาได้ติดต่อกับพระสังฆราชเรมี โดยปรึกษากับพระสังฆราชทางด้านชีวิตจิต เธอได้ไปที่แรงม์เพื่อพบกับพระสังฆราชบ่อยๆ เธอยังเป็นพระสหายคนหนึ่งของกษัตริย์โคลวิส และพระราชินีโกลทิลดาอีกด้วย เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่พระราชวงศ์กลับกลายเป็นสหายกับหญิงสามัญชนเช่นเยโนเวฟา แต่สำหรับเราคริสตัง เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะเราต่างเป็นลูกของพระ

ต่อมาไม่นาน เยโนเวฟาเกิดความคิดที่จะอยากจะสร้างวัดหลังหนึ่ง เพื่อเป็นเกียรติแด่ท่านนักบุญเปโตรและเปาโล ท่านได้ปรึกษากับพระราชินีโกลทิลดา สมเด็จพระราชินีเห็นด้วยกับเยโนเวฟา พระนางได้กราบทูลขอเรื่องนี้ต่อกษัตริย์โคลวิสพระสวามี พระองค์ได้ทรงประทานพระบรมราชานุญาตให้ก่อสร้างวัดดังกล่าว แต่เสียดายว่าพระองค์ได้เสด็จสวรรคตก่อนที่พระวิหารของพระเป็นเจ้าหลังนี้จะแล้วเสร็จ

เยโนเวฟาได้ทำอัศจรรย์อีกหลายอย่างเพื่อชาวปารีส ในเวลาที่เธอได้เจริญชีวิตอยู่บนโลกนี้
สิ่งหนึ่งที่เราพบในชีวิตของเธอก็คือ ชีวิตแห่งการภาวนา และการช่วยเหลือพี่น้องที่ตกทุกข์ได้ยาก
เธอยึดถึงพระวาจาของพระเยซูเจ้าที่กล่าวว่า

“จงตื่นเฝ้าและภาวนาอยู่เสมอ เพื่อจะได้ไม่ตกอยู่ในการประจญ”

ตั้งแต่อายุ 15 ปี ทีเธอถือข้อปฏิญาณจนถึงอายุ 50 ปี เธอรับประทานเพียงขนมปังและถั่วเท่านั้น เธอจำศีลอดอาหาร 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เธอไม่เคยดื่มเครื่องดื่มที่ทำจากแอลกอฮอล์เลย แต่เมื่อเธอมีอายุได้ 50 ปี พระสังฆราชได้สั่งให้เธอรับประทานปลาและดื่มนม



ประวัติศาสตร์ไม่ได้เล่าเกี่ยวกับช่วงสุดท้ายในชีวิตของเยโนเวฟาเลย เราพบเพียงแค่ประโยคนี้เท่านั้นที่กล่าวถึงเยโนเวฟา

“หลังจากที่เธอได้เจริญชีวิตอยู่บนโลกนี้ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นแดนเนรเทศ เธอได้ฝึกปฏิบัติคุณธรรมต่างๆ อย่างดี เมื่อเธอมีอายุได้ 80 กว่าปี เธอได้สิ้นใจอย่างสงบในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ.512”

หลังจากที่เธอได้มรณภาพแล้ว ชาวปารีสนำร่างของเธอไปฝังไว้ในวัดนักบุญเปโตรและเปาโล ซึ่งเป็นที่ฝังพระศพกษัตริย์โคลวิส แต่ร่างของเธอได้ถูกเคลื่อนย้ายหลายครั้ง ปัจจุบันร่างของเธอได้พักผ่อนอย่างสงบในวัดนักบุญสเตฟาโน หรือในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า นักบุญเอเตียน

ค.ศ.1997 สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้เสด็จไปร่วมงานเยาวชนสากลโลกที่กรุงปารีส และได้ถือโอกาสนี้ไปเยี่ยมและสวดภาวนาที่หลุมฝังศพของท่านนักบุญเยโนเวฟา องค์อุปถัมภ์ของกรุงปารีสด้วย